หน้าเว็บ

21 พ.ค. 2554

ประวัติวัดหน้าพระบรมธาตุและประวัติอดีตเจ้าอาวาส



วัดหน้าพระบรมธาตุ
วัดหน้าพระบรมธาตุ อยู่ติดถนนราชดำเนิน ตรงกันกับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของ จังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ 1800 โดยมีเจ้าอาวาสที่พอทราบได้ คือ
1. พระครูกาแก้ว (บุญศรี)
2. พระศรีธรรมราชมุนี (หมุ่น อิสฺสโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช.
3. พระธรรมนาถมุนี (ใส ถาวโร) อดีตผู้ช่วยเจ้าคณะภาค ๑๖.
4. พระครูวิมลนวการ (เผ้ง ทิฏฺฐธมฺโม นามสกุล กาฬกาญจน์)
5. พระปริยัติวโรปการ (หมุ่น ปุณฺณรโส)) เปรียญ ๖ ประโยค
6. พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

ในหนังสือตำนานพระธาตุ เขียนไว้ว่า รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ วั ดหน้าพระบรมธาตุ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2441 เพื่อทอดพระเนตรที่พักพระครูเทพมุนี (ปาน) ต่อมาเมื่อปี 2520 สมเด็จพระสังฆราช ได้เสด็จวัดหน้าพระบรมธาตุ เพื่อทรงสรงน้ำศพ พระครูวิมลนวการ ความสำคัญของวัดหน้าพระบรมธาตุ อยู่ที่การเรียนภาษาบาลี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2467 พระศรีธรรมราชมุนี (หมุ่น) เปิดโรงเรียนสอนภาษาบาลีขึ้นเป็นแห่งแรกในปักษ์ใต้ที่วัดนี้ จนถึงปี 2470 ได้ผลิตมหาเปรียญชาวปักษ์ใต้ได้สำเร็จ 3 รูป แล้วผลิตต่อเรื่อยมาอีกจนได้หลายร้อยรูป

เปรียญ 3 รูปแรก ของวัดหน้าพระบรมธาตุ คือ พระมหาหมุ่น พระมหาวรรณ และสามเณรชื่น ทั้งสามท่านสอบจนได้ 6 ประโยค พระมหาวรรณ ลาสิกขาไปเป็นครู จนได้เลื่อนชั้นขึ้นเป็นครูใหญ่ พระมหาชื่น ลาสิกขา รับราชการจนเป็น นายอำเภอ ภายหลังเป็นผู้แทนราษฎร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ส่วนพระมหาหมุ่น ภายหลังได้ขึ้นเป็น พระครูกาแก้ว แล้วได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะที่ พระปริยัติวโรปการ เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ
ปัจจุบันมี พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร) เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ และมี พระครูอดิสัยธรรมศาสก์ (ชอบ อติเมโธ) เป็นรองเจ้าอาวาส
พระครูกาแก้ว (บุญศรี)                   
             ท่านเป็นชาวชัน  ตำบลกำแพงเซา  อำเภอเมือง  โยมพ่อของท่านชื่อหมื่นเดช ก่อนบวช ท่านมีครอบครัวมาก่อน ภรรยาชื่อนางแดงพุ่ม  มีลูก 3 คน คือ นายนาค  นายเงินและนางสุข
               นายศรี ได้เดินทางมาซื้อวัวควายแถวบ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานี เป็นประจำ ได้เกิดความเลื่อมใสต่อเจ้าอาวาสวัดบางกล้วย จึงศรัทธาขอบวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาที่วัดบางกล้วย ได้ 3 พรรษาจึงมาจำพรรษาที่วัดสระเรียง พระศรีมีความซาบซึ้งในรสพระธรรมก็มิได้คิดจะลาสิกขาอีก จึงได้บวชและศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป จนมีความรอบรู้ในพระปริยัติธรรมและพระธรรมวินัยพอสมควร ต่อมาชาวบ้านจึงได้อาราธนามาเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าราหู  อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
                ไม่นานพระศรีก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ศรี ฐานานุกรมของพระครูกาแก้ว วัดสวนหลวงออก เมื่อถึง ปี พ.ศ. 2436 พระสมุห์ศรีได้เดินทางเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่กรุงเทพ
               เมื่อถึงกรุงเทพฯ แล้วพระสมุห์ศรีได้จำพรรษาและเรียนอยู่ที่วัดมหาธาตุ พระสมุห์ศรีเรียนอยู่ที่วัดมหาธาตุ อยู่ได้ 4 ปี ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร     จึงเดินทางกลับนครศรีธรรมราช เมื่อพระครูกาแก้ว วัดสวนหลวงออกได้ถึงแก่มรณภาพ พระสมุห์ศรีจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูกาแก้ว
                 ต่อมาในปี 2458 พระใบฏีกาหมุ่น วัดหน้าพระลาน ซึ่งเป็นพระฐานานุกรมของพระครูกาแก้ว (ศรี) ได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดหน้าพระบรมธาตุ(ตอนนั้นท่านพระครูกาแก้ว (ศรี)ได้เริ่มบุรณะวัดหน้าพระบรมธาตุแล้ว)เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของพระครูกา แก้ว (ศรี) ซึ่งชราภาพ พ.ศ. 2459 ได้รวมวัดหน้าราหู  วัดประตูลักษณ์  และวัดหน้าพระบรมธาตุเข้าเป็นวัดเดียวกัน  รวมเรียกว่าวัดหน้าพระบรมธาตุมาตั้งแต่ครั้งนั้น       ซึ่งปีเดียวกับที่พระครูกาแก้ว (ศรี) มรณภาพ    ขณะที่มีอายุได้ 70 ปี
                  เสร็จจากงานพระราชทานเพลิงศพแล้ว พระใบฏีกาหมุ่นได้รับแต่งตั้งเป็นพระปลัด ฐานานุกรมของพระญาณเวที (ลือ) วัดพระเดิม พระสงฆ์ในวัดหน้าพระบรมธาตุรวมทั้งพระครูสุนทรดิตถคณีจึงได้พร้อมใจกันนิมนต์พระปลัดหมุ่นเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ สืบต่อมา

                  หมายเหตุ.. ท่านพระครูกาแก้ว (บุญศรีหรือสี)  1 มกราคม 2450 ได้เป็นผู้ร่วมสร้างพระพุทธบาทจำลองที่มณฑปบนยอดเขาจำลองในวัดพระบรมธาตุ ร่วมกับพระศิริธรรมมุนี (ม่วง  ต่อมาคือพระรัตนธัชมุนี  วัดท่าโพธิ์)และพระยาตรังภูมาภิบาล (ถนอม บุณยเกตุ  ต่อมาคือ  พระยารณชัยชาญยุทธ) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช


พระศรีธรรมราชมุนี (หมุ่น อิสฺสโร)อดีตเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช
ชาติภูมิ
นามเดิม หมุ่น ชูสังข์ มารดาชื่อ ชุม บิดาชื่อ ชู เกิดวันอาทิตย์ 23 เดือนเมษายน พ.ศ. 2425 (เดือน 6 ขึ้น 6 ค่ำ) ณ บ้านสามดอน ตำบลมะม่วงสองต้น อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านเป็นบุตรคนหัวปี มีน้องร่วมท้อง 5 คน คือ 1.พระแดง ธมฺมปาโล 2.นายวงศ์ ชูสังข์ 3. นางคง เพ็ชรรัตน์ 4.นายพุ่ม ชูสังข์ 5.นายแก้ว ชูสังข์
ครั้งเจริญวัย บิดามารดานำไปถวายเป็นศิษย์พระเดชพระคุณพระรัตนธัชมุนี วัดท่าโพธิ์ เมื่อยังเป็น พระมหาม่วง รตฺนธโช เล่าเรียนหนังสือไทยได้ชั้น 4 เมื่อ พ.ศ. 2440

ท่านได้รับการบรรพชาอุปสมบท เมื่อ เวลา 4 นาฬิกา ล.ท. ตรง (16.00 น.) ของวันที่ 23มิถุนายน พ.ศ. 2445 ในนาม พระหมุ่น ฉายา อิสฺสโร ท่านพระครูกาแก้ว (บุญศรี) วัดหน้าราหู(ชื่อเดิมของวัดหน้าพระบรมธาตุในสมัยนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุนทรดิฐคณี วัดดินดอน กิ่งอำเภอลานสกา เมื่อยังเป็นพระปลัดนาค โชติพโล และพระอาจารย์จันทร์ โกนาโค วัดหน้าราหู เป็นกรรมวาจาจารย์ บรรพชาอุปสมบท ณ อุโบสถพระวิหารหลวง วัดพระบรมธาตุ ครั้งบวชแล้วก็ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ในสำนักพระปลัดบัว วัดหน้าพระลาน และเล่าเรียนมูลกัจจายน์เบื้องต้นใน สำนักท่านพระครูกาแก้ว พระอุปัชฌาย์วัดหน้าพระบรมธาตุ

พ.ศ. 2459 ท่านได้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาส โดยรวมวัดหน้าราหู วัดประตูรักษ์ วัดหน้าพระบรมธาตุ เข้าเป็นวัดเดียวกัน รวมเรียกว่า “วัดหน้าพระบรมธาตุ” มาแต่ครั้งนั้น ซึ่งเป็นปีที่พระครูกาแก้ว(บุญศรี) มรณภาพลง พ.ศ. 2460 ท่านได้รับตราตั้งเป็นเจ้าคณะหมวดพระเสื้อเมือง (ตำบลในเมือง) พ.ศ. 2461 เสร็จการถวายเพลิงศพพระครูกาแก้ว(บุญศรี)แล้ว ได้รับตราตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ

พ.ศ.2467 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูกาแก้ว ( หมุ่น อิสฺสโร )” ต่อมาท่านได้รับพระราชทาน เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่ “พระปริยัติวโรปการ” มีตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัด เมื่อตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดว่างลง ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัด และ เปลี่ยนชื่อสมณศักดิ์เป็นที่ “พระศรีธรรมราชมุนี ปริยัติธรรมวาทีสังฆปาโมกข์” ท่านได้ดำรงตำแหน่งนี้จนถึงมรณภาพ ใน วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2498 รวมอายุ 73 ปี 4 เดือน 12 วัน และได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่อ พ.ศ.2499

ประวัติย่อพระเดชพระคุณ พระศรีธรรมราชมุนี
อดีตเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ
อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช

 เกิดวันอาทิตย์ ที่ ๒๓ เมษายน เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๒๕
 เรียนหนังสือไทยได้ชั้น ๔ อย่างเก่า วัดท่าโพธิ์ พ.ศ. ๒๔๔o
 บรรพชาอุปสมบท วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๕
 ดำริตั้งสำนักเรียนส่งศิษย์เข้าศึกษากรุงเทพฯ พ.ศ.๒๔๕๕
 รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ พ.ศ.๒๔๕๙
 รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะหมวด พ.ศ.๒๔๕๙
 เป็นเจ้าคณะหมวด พระเสื้อเมือง พ.ศ. ๒๔๖๐
 เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ และพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.๒๔๖๑
 จัดตั้งโรงเรียนชั้นตรีในวิหารธรรมศาลา พ.ศ.๒๔๖๒
 เป็นพระปลัดฐานานุกรม พระญาณเวที เจ้าคณะจังหวัด พ.ศ.๒๔๖๔
 ย้ายโรงเรียนนักธรรมชั้นตรีเข้าสอบวัดหน้าพระบรมธาตุ พ.ศ.๒๔๖๔
 จัดตั้งสำนักเรียนบาลี พ.ศ.๒๔๖๗
 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูกาแก้ว พ.ศ.๒๔๖๗
 เปิดโรงเรียนนักธรรมชั้นโท พ.ศ.๒๔๖๙
 นักเรียนของสำนักเรียนเข้าสอบเปรียญครั้งแรก พ.ศ.๒๔๗๐
 เปิดสอนนักธรรมชั้นเอก พ.ศ.๒๔๗๑
 เป็นเจ้าคณะแขวงและพระอนุศาสนาจารย์อำเภอร่อนพิบูลย์ พ.ศ.๒๔๗๒
 เป็นเจ้าคณะอำเภอเมือง พ.ศ.๒๔๘๓
 เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๘๖
 เป็นพระราชาคณะที่ พระปริยัติวโรปการ เจ้าสำนักเรียน พ.ศ. ๒๔๙o
 รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๔๙๔
 เปลี่ยนพระราชทินนาม เป็น พระศรีธรรมราชมุนี พ.ศ. ๒๔๙๕
 มรณภาพวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๘
 พระราชทานเพลิงศพ พ.ศ.๒๔๙๙




พระธรรมนาถมุนี (ใส ถาวโร)
ชาติภูมินามเดิม ใส ดุลยกุล เป็นบุตรนายนุ่น-นางจันทร์ เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2436 ตรงกับวันพุธ แรม 8 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเส็ง ณ ตำบลบ้านกลาง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
บรรพชาอุปสมบทพ.ศ. 2453 บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดสระโพธิ์ ตำบลเสือหึง อำเภอปากพนัง (ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอเชียรใหญ่) จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพระอธิการใหม่ เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. 2463 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดเก้าตำลึง ตำบลเสือหึง อำเภอปากพนัง (ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอเชียรใหญ่) จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพระอธิการนุ่น เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์รุ่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์
การศึกษาหลังบรรพชาอุปสมบทได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ณ สำนักวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ จนสอบได้นักธรรมชั้นโท ในปี พ.ศ. 2462 และสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ในปี พ.ศ. 2465
หน้าที่การงาน
หลังจากได้ศึกษาและปฏิบัติหน้าที่ครูสอนปริยัติธรรม สำนักวัดมหาธาตุอยู่ระยะหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2467 ท่านได้เดินทางกลับนครศรีธรรมราช ปฏิบัติหน้าที่ครูสอนปริยัติธรรมสำนักวัดหน้าพระบรมธาตุ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช
พ.ศ. 2500 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุและเป็นเจ้าสำนักเรียนนักธรรม-บาลี วัดหน้าพระบรมธาตุ จนตลอดชีวิต
สมณศักดิ์พ.ศ. 2484 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระธรรมนาถมุนี
พ.ศ. 2498 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม
บั้นปลายชีวิตท่านเจ้าคุณธรรมนาถฯ มักพูดกับศิษย์ของท่านเสมอว่า ท่านจะตายอายุประมาณ 77 ปี และเขียนติดไว้หน้าห้องในกุฏิว่า “อายุ 77 ปี เราจะตายแน่นอน และตายคนเดียวไม่มีใครเห็นใจ” เหตุการณ์ก็เป็นดังนั้นจริงๆ เพราะเมื่อท่านอายุได้ 76 ปี ก็เริ่มมีอาการอาพาธด้วยโรคหอบและโรคปอด ลูกศิษย์ได้นำท่านไปรักษาที่โรงพยาบาล เป็นเวลาประมาณ 1 ปี จนอาการทุเลาลงกระทั่งเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2512 ซึ่งท่านมีอายุได้ 77 ปีเศษ ในเวลา 08.00 น. ท่านได้รับนิมนต์ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของโยมที่คุ้นเคยและมีอุปการะกันมานาน ซึ่งในวันนั้นท่านได้ให้โอวาทและสั่งสอนอย่างจับใจเป็นพิเศษ แล้วก็เป็นลมล้มพับลง เจ้าของบ้านได้นำส่งโรงพยาบาล ไปถึงโรงพยาบาลเวลาประมาณ 11.00 น. แต่ท่านก็ได้มรณภาพเสียก่อนแล้ว ซึ่งก็เป็นจริงดังที่ท่านเคยบอก คือ ไม่มีลูกศิษย์ใกล้ชิดคนใดได้เห็นใจ แม้กระทั่งหมอ


พระครูวิมลนวการ (เผ้ง ทิฏฺฐธมฺโม)
ชาติภูมิพระครูวิมลนวการ เป็นบุตรนายกลับ กาฬกาญจน์ กับ นางทองชุม (สกุลเดิม ณ นคร) เกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 ณ ตำบลท่าไร่ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 6 คน โดยท่านเป็นบุตรคนที่ 4
การศึกษาและการบรรพชาอุปสมบท
ในเบื้องต้นได้ศึกษาหนังสือขอมไทยจากบิดา มีความรู้ความสามารถอ่านเขียนได้คล่องตามแบบโบราณ
จนกระทั่งอายุได้ 21 ปี ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนต่อและขออุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดหน้า- พระบรมธาตุ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2464 มีพระปลัดหมุ่น อิสฺสโร (ต่อมาเป็นพระครูกาแก้ว และพระศรีธรรมราชมุนี ปริยัติธรรมวาที สังฆปาโมกข์ ตามลำดับ) เจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุในสมัยนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระพลับ อิสฺสโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เป็นสัทธิวิหาริกลำดับที่ 3 ของพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า “ทิฏฺฐธมฺโม” เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนสอบได้นักธรรมชั้นโท
การทำงาน
หลังจากศึกษาจนมีความรู้พอสมควรแล้ว ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนาเป็น อันมาก ได้ไปรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดปะ ตำบลท่าดี อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ พ.ศ. 2480-2483 แล้วกลับมารักษาการแทนเจ้าอาวาสมุมป้อม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 1 ปี จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางจาก (วัดธาราวดี พ่อท่านจบในปัจจุบัน) และได้เลื่อนเป็นพระธรรมธร ฐานานุกรมในพระศรีธรรมราชมุนี ปริยัติธรรมวาที สังฆปาโมกข์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497
วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2498 ได้รับแต่งตั้งเป็นสาธารณูปการอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำหน้าที่ตรวจการวัดทั่วอำเภอเมืองเป็นประจำทุกปี
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ได้สมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนาม “พระครูวิมลนวการ” และ ได้ย้ายกลับจากวัดบางจาก มาจำพรรษา ณ วัดหน้าพระบรมธาตุ จากนั้นในปีพ.ศ. 2505 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2515
บั้นปลายชีวิตหลังปี พ.ศ. 2515 ได้เกิดอาพาธด้วยโรคมะเร็งหลอดเสียงอยู่หลายปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2520 ท่านได้มรณภาพอย่างสงบ ณ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช สิริอายุได้ 78 ปี พรรษา 57



พระปริยัติวโรปการ (หมุ่น ปุณฺณรโส)
ชาติภูมิ
เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ ชาวบ้านนาโหนด ต.กำแพงเซา อ. เมือง จ.นครศรีธรรมราช เกิดในสกุล " พฤกษ์เสถียร"
บรรพชาเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕ เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี ที่วัดเสมา อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช
อุปสมบท
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ที่วัดหน้าพระบรมธาตุ มีพระศรีธรรมราชมุนี (หมุ่น อิสฺสโร)เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเทพเจติยาภิบาล(พลับ)เป็นพระคู่สวด
สมณศักดิ์พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติวโรปการ
มรณภาพ
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๔ อายุได้ ๘๖ ปี


พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

พระครูกา ผู้รักษาพระธาตุ นครศรีฯ
จากหลักฐานที่ปรากฏในตำนาน ทำให้ทราบว่า วัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารใน พ.ศ. 2458 พื้นที่ใช้สอยในวัดเมื่อสมัยแรกสร้างจนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กำหนดให้บริเวณวัดเป็นเขตพุทธาวาส ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา และได้ตั้งเขตสังฆาวาสขึ้นรอบองค์พระบรมธาตุทั้ง 4 ทิศ ได้แก่
ทิศเหนือ มีวัดพระเดิม วัดมังคุด และวัดโรงช้าง
ทิศใต้ มีวัดหน้าพระลาน วัดโคกธาตุ วัดท้าวโคตร วัดศพ วัดไฟไหม้
และวัดชายนา
ทิศตะวันออก มีวัดดิ่งดง วัดธรรมาวดี วัดสิงห์ วัดสระเรียง วัดหน้าพระบรมธาตุ และ
วัดหน้าราหู
ทิศตะวันตก มีวัดพระนคร วัดแม่ชี และวัดชลเฉนียน

ในปัจจุบัน วัดต่างๆ ที่อยู่รอบองค์พระบรมธาตุทั้ง 4 ทิศ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ วัดโรงช้าง วัดดิ่งดง วัดธรรมาวดี วัดสิงห์ และวัดแม่ชี กลายเป็นวัดร้าง ส่วนวัดพระเดิมและวัดมังคุดรวมเป็นวัดเดียวกับวัดพระมหาธาตุฯ วัดศพและวัดไฟไหม้รวมเป็นวัดเดียวกับวัดท้าวโคตร สำหรับวัดราหูได้รวมกับวัดหน้าพระธาตุ
ในส่วนของพระสงฆ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลองค์พระบรมธาตุ มีจำนวน ๔ คณะ แต่ละคณะจะรับผิดชอบประจำอยู่ในทิศต่างๆ คือ
คณะกาเดิม อยู่ทิศเหนือ
คณะการาม อยู่ทิศใต้
คณะกาแก้ว อยู่ทิศตะวันออก
คณะกาชาด อยู่ตะวันตก

จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดให้ตั้งพระสงฆ์คณะต่างๆ มีตำแหน่งเป็นพระครู โดยมีพระครูเหมเจติยานุรักษ์เป็นหัวหน้าคณะ และมีผู้ช่วยอีก 4 รูป คือ พระครูกาเดิม พระครูการาม พระครูกาแก้ว และพระครูกาชาด ตำแหน่งพระครูทั้ง 4 นี้ยังคงจำพรรษาอยู่ในวัดเดิมของตนตามทิศทั้ง 4 มีหน้าที่ดูแลพระบรมธาตุร่วมกัน ใน พ.ศ. 2458 รัชกาลที่ 6 โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ นิมนต์พระสงฆ์จากวัดเพชรจริกซึ่งมีพระครูวินัยธร (นุ่น) เป็นหัวหน้าสงฆ์จำพรรษาดูแลวัด และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

เจ้าคณะทั้งสี่นั้นหมายถึงเจ้าคณะทั้งสี่กา ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลรักษาพระบรมธาตุทั้งสี่ทิศ และดูแลคณะสงฆ์ข้างนอกตามทิศที่ตนรับผิดชอบ ซึ่งมีมาแต่โบราณกาล และในช่วงปี พ.ศ.2504 ช่วงนั้นพระบรมธาตุยังรกร้างอยู่ ซึ่งเจ้าคณะทั้งสี่ ไม่ได้หมายความว่าเป็นเจ้าคณะจังหวัดซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย ร.6 แต่เป็นเจ้าคณะทั้งสี่กา ที่คณะสงฆ์ของนครศรีธรรมราชเป็นผู้คัดสรรขึ้น ตามที่มีมาแต่โบราณกาลเมื่อท่านพระครูกาแก้วแห่งวัดสวนหลวงออกสิ้นบุญ พระสมุห์บุญศรี เจ้าอาวาสวัดหน้าราหู ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูกาแก้ว (บุญศรี) ท่านเป็นบิดาท่านพระครูสุนทร และท่านพระครูกาแก้ว (บุญศรี) เป็นพระอุปัชฌาย์ ของท่านพระครูกาแก้ว (หมุ่น อิสฺสโร)พระครูกาแก้ว (บุญศรี) สิ้นบุญปี พ.ศ.2460

ในปี พ.ศ.2467 หลังจากท่านพระครูกาแก้ว (บุญศรี) สิ้นบุญ พระหมุ่น อิสฺสโร ซึ่งเป็นปลัดในฐานานุกรมพระญาณเวทีเจ้าคณะจังหวัด วัดพระเดิม ได้เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูกาแก้วต่อซึ่งการแต่งตั้งพระครูกาทั้งสี่นั้นเป็นตำแหน่งทำเนียบสงฆ์พระครูกาทั้งสี่ของเมืองนคร ซึ่งเป็นกรรมการรักษาองค์พระบรมธาตุสืบมาแต่โบราณ และมีท้องที่ปกครองสงฆ์แบ่งทิศกัน แยกตามฐานะ ด้วยวัดพระบรมธาตุเป็นหลักชัยของชาวนครฯและชาวใต้ ในสมัยก่อนจะเป็นเขตพุทธาวาส พระอารามหลวงไม่มีพระสงฆ์อยู่

พระครูกาแก้ว (เท่าที่พอทราบ)


1. ท่านพระครูกาแก้ว วัดสวนหลวงออก
2. ท่านพระครูกาแก้ว (บุญศรี) วัดหน้าราหู บิดาท่านพระครูสุนทร วัดดินดอน ท่านเป็นกำลังสำคัญในการบูรณะพระบรมธาตุร่วมกับท่านปาน
3. ท่านพระครูกาแก้ว(หมุ่นอิสฺสโร) วัดหน้าพระบรมธาตุ (รวมวัดหน้าราหู วัดประตูลักษณ์ วัดหน้าพระบรมธาตุเข้าด้วยกัน)
4. ท่านพระครูกาแก้ว ( เดิมชื่อแก้ว เป็นชาวจังหูน ต้นตระกูลมณีโลก                              พ.ศ.2442-244   วัดสวนปาน)
5. ท่านพระครูกาแก้ว (พุฒ วัดชะเมา)
6. ท่านพระครูกาแก้ว วัดใหญ่ชัยมงคล
7. ท่านพระครูกาแก้ว (หมุ่นปุณฺณรโส) วัดหน้าพระบรมธาตุ
8. ท่านพระครูกาแก้ว วัดหน้าพระลาน รูปปัจจุบัน

พระครูการาม

1.ท่านพระครูการาม (ดี) วัดหน้าพระลาน
2.ท่านพระครูการม (นาค) วัดหน้าพระลาน
3.ทานพระครูการาม(จู) เปรียญ 4 ประโยค วัดมเหยงคณ์
4.ท่านพระครูการาม (เกื้อ) วัดธาราวดี (วัดไฟไหม้)
5.ท่านพระครูการาม   วัดท่าช้าง  ต. นาพรุ  อ. พระพรหม จ. นครศรีฯ

พระครูกาชาด

1.ท่านพระครูกาชาด (ดำ) วัดท้าวโคตร
2.ท่านพระครูกาชาด  วัดประตูเขียน (รวมกับวัดชะเมาปัจจุบัน)
3.ท่านพระครูกาชาด (ขาว) วัดชะเมา
4.ท่านพระครูกาชาด (ย่อง) วัดวังตะวันตก
5.ท่านพระครูกาชาด วัดพระนคร ผู้จัดการโรงเรียนราษฎรผดุงวิทยา
6.ท่านพระครูกาชาด (แก้ว) วัดใหญ่
7.ท่านพระครูกาชาด (จัด) วัดสระเรียง
8.ท่านพระครูกาชาด (เนียม )  วัดชลเฉนียน
9.ท่านพระครูกาชาด (เจียม) วัดหน้าพระบรมธาตุ รูปปัจจุบัน
พระครูกาเดิม
1.ท่านพระครูกาเดิม วัดเสมาเมือง (อาจารย์หลวงพ่อทวด วัดช้างให้)
2.ท่านพระครูกาเดิม (ทอง) วัดจันทาราม
3.ท่านพระครูกาเดิม (คลิ้ง) วัดจันทาราม
4.ท่านพระครูกาเดิม (รักษ์) วัดบูรณาราม
5.ท่านพระครูกาเดิม (เกตุ) วัดบูรณาราม
6.ท่านพระครูกาเดิม  (หนู ) วัดจันทาราม
7.ท่านพระครูกาเดิม (ปุ่น)  วัดท่าโพธิ์
8.ท่านพระครูกาเดิม วัดบางสะพาน

(ไครมีข้อมูลมากกว่านี้... ก็ช่วยเพิ่มเติมด้วย ส่งข้อมูลมาที่ kim2552@hotmail.com จะเป็นพระคุณอย่างมาก ต้องการจะรวมรวมประวัติพระครูกาทุกรูป)

 ......อนุญาตุให้บทความทั้งหมดเป็นสาธารณะ.......ไม่สงวนลิกขสิทธิ์.....


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น