รวมรูปพระเถราจารย์ผู้ร่วมปลุกเสก
ข้อมูลในหนังสือแจกงานศพพระครูกาแก้ว(หมุ่น) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ระบุไว้ว่าพ่อท่านคล้ายมาร่วมปลุกเสกพระเครื่องของพระครูกาแก้ว(หมุ่น) เนื่องจากเหตุการณ์ที่ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาและมีการปะทะกันกับทหารญี่ปุ่นที่ท่าแพ นครศรีธรรมราช
ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ โดยมีทหารไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น ๓๘ ศพ เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงและเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอนุสาวรีย์“ วีรไทย ” เป็นรูปทหารถือดาบปลายปืนในท่าออกศึกซึ่งออกแบบและปั้นโดย นายสนั่น ศิลากรณ์ ข้าราชการของกรมศิลปากรในสมัยนั้น และได้ประดิษฐานไว้ในค่ายวชิราวุธ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแสดงถึงความกล้าหาญของทหารไทย โดยในวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมาเปิดอนุสาวรีย์อย่างเป็นทางการ
สงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามญี่ปุ่นนี้เองเป็นเหตุให้ท่านพระครูกาแก้ว(หมุ่น) มีความคิดที่จะสร้างพระเครื่องขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อนำไปแจกให้กับทหารไว้ป้องกันตัว โดยได้กดพิมพ์พระในพระอุโบสถ วัดหน้าพระบรมธาตุ ปลุกเสกที่วัดศาลามีชัย (เพื่อถือเคล็ดให้มีชัยชนะ) อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕ โดยมีฆราวาสได้เป็นเจ้าภาพร่วมคือ น.อ.หลวงวุฒิราษฏร์รักษา ข้าราชการประจำจังหวัด, พ.ต.ต.ตระกูล วิเศษรัตน์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช และมีเกจิที่ร่วมปลุกเสกคือ
๑.พ่อท่านพุ่ม วัดจันพอ
๒.พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน(ขณะนั้นอายุ ๖๖ ปี นี่คือพระเครื่องชุดแรกๆของพ่อท่านที่มาร่วมปลุกเสก)
๓.พระครูสุนทร วัดดินดอน
๔.พ่อท่านเอียดดำ วัดศาลาไพ
๕.พระครูกาเดิม วัดบุราณาราม
๖.พระครูกาแก้ว(หมุ่น)
๗.พ่อท่านคง วัดร่อนนา
๘.พระครูคีรีสมานคุณ(พระอาจารย์เรือง เจ้าคณะหมวด อำเภอเมือง)
๙.พระอาจารย์เลื่อน วัดชั้น ลานสกา และ
๑๐.พระอาจารย์ชู วัดปากระวะ หัวไทร เป็นผู้รักษาเวลาในพิธี ซึ่งพระเครื่องทั้งหมดนี้พระครูกาแก้ว(หมุ่น) ได้แจ้งมอบให้กับกองพลทหารนคร(ค่ายวชิราวุธ) โดยมีพ.ต.เสนาะ เวชนกาญจน์ เป็นตัวแทนรับมอบ
พระอาจารย์ชู วัดปากระวะ หัวไทรและพระเผ้ง ศิษย์ก้นกุฏิของพระครูกาแก้ว(หมุ่น) เป็นผู้รวบรวม ผงศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาสร้างพระเช่น ผงพระพุทธคุณพระพุทธนมิตร นะโมย่องตาม้า นะโมถอดรูป นะโมถอดห่วง ปถมังพินทุ ปถมังโลกีย์ ปถมังโลกุตตร์ ตรีนิสิงเห นะปัดตลอด ว่านเกษร ๑๐๘ พระผงแตกหักที่วัดท่าโพธิ์ใต้ และชันโรง เป็นต้น
ค่าใช่จ่ายในพิธีนี้พระเกจิอาจารย์ผู้เข้าร่วมในพิธีได้ช่วยกันออก เพื่อเป็นส่วนชาติพลีบูชาพระรัตนตรัย ทางคติโบราณเชื่อกันว่า ชันโรงช่วยปกปักรักษาของดีที่อยู่ในองค์พระหรือพระเครื่อง อีกทั้งชันโรงเป็นแมลงที่ไม่ดุร้าย จึงมีเสน่ห์ทางเมตตามหานิยมอีกด้วย ดังนั้น หากผู้ใดได้ครอบครองวัตถุมงคลที่ประกอบขึ้นด้วยชันโรงก็นับได้ว่า ผู้นั้นได้ครบถ้วนแล้วซึ่งของที่มีคุณวิเศษครบทุกทางและเป็นเมตตามหานิยม
ข้อมูลโดย.
http://www.พ่อท่านคล้าย.com/2012-12-…/14-2012-12-14-07-08-24