....ขอเชิญร่วม.....ปิดทองรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส..... วัดหน้าพระบรมธาตุ ....... ...มีวัตถุมงคล...รุ่นพิเศษ.............................อนุญาตุให้บทความทั้งหมดเป็นสาธารณะ.......

6 พ.ค. 2554

งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ













ประเพณี บุญสาารทเดือนสิบเกิดขึ้นด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกับชาวอินเดียที่มีพิธี 'เปตพลี' เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งจะถูกปล่อยตัวจากยมโลกเพื่อให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้องและลูกหลานในเมือง มนุษย์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ และกลับลงไปอยู่ในนรกดังเดิม ในวันแรก 15 ค่ำเดือนสิบ ลูกหลานจึงนำอาหารไปทำบุญที่วัดเพื่อเป็นการอุทิศ ส่วนกุศลให้แด่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยทำในวันแรก ที่ผู้ล่วงลับมาจากยมโลก คือวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่า 'วันหฺมฺรับเล็ก' และวันที่ผู้ล่วงลับจะต้องกลับยมโลกดังเดิมคือวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่า วันหฺมฺรับใหญ่' (คำว่า 'หฺมฺรับ' มาจากคำว่า 'สำรับ' )

งานจะเริ่มครึกครื้นตั้งแต่วันแรก 13 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งถือว่าเป็น 'วันจ่าย' เนื่องจากชาวเมืองจะหาซื้อสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้จัดหฺมฺรับในวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ 'วันยกหฺมฺรับ' หรือ 'วันรับตายาย' จะยกหฺมฺรับไปวัดและนำอาหารและขนม ส่วนหนึ่งวางไว้ตามที่ต่าง เช่น ริมกำแพงวัด โคนต้น ไม้ เป็นต้น เพื่อแผ่ส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วที่ปราศจากญาติ ระยะหลังมักนิยมสร้างร้านให้ผู้คนนำขนมมาวางรวมกัน ร้านที่สร้างเรียกว่า 'หลาเปรต' (หลา คือ ศาลา)

ที่ หลาเปรตจะมีสายสินจน์ผูกอยู่เพื่อให้พระสงฆ์สวดบังสุกุลเพื่อส่งกุศลให้ผู้ ล่วงลับ เมื่อเสร็จพิธีผู้คน จะแย่งกันไปเอาขนมที่หลาเปรต เรียกว่า 'ชิงเปรต' เพราะมีความเชื่อว่าการกินของที่เหลือจากเซ่นไหว้บรรพชนได้กุศลแรง


1. ความเป็นมาของงานเทศกาลเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราช

* “งาน เทศกาลเดือนสิบ” จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราชโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาเงินสร้างสโมสรข้า ราชการ ซึ่งชำรุดมากแล้ว โดยในช่วงนั้น พระภัทรนาวิก จำรูญ(เอื้อน ภัทรนาวิก) ซึ่งเป็นนายกศรีธรรมราชสโมสร และพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการได้ร่วมกันจัดงานประจำปีขึ้นโดยได้จัดกำหนดเอางานทำบุญเดือน สิบมาจัดเป็นงานประจำปี พร้อมทั้งมีการออกร้าน และมหรสพต่างๆโดยมีระยะเวลาในการจัดงาน ๓ วัน ๓ คืน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ทางจังหวัดได้ย้ายสถานที่จัดงานจากสนามหน้าเมืองไปยังสวนสมเด็จพระศรี นครินทร์ ๘๔ (ทุ่งท่าลาด) ซึ่งมีบริเวณกว้าง และได้มีการจัดตกแต่งสถานที่ไว้อย่างสวยงาม รวมทั้งได้ทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงานไปจากเดิมหลายประการ

2. ความสำคัญของประเพณีสารทเดือนสิบของชาวนครศรีธรรมราช






* การ ทำบุญสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้ถือปฏิบัติด้วยศรัทธาแต่ดึกดำบรรพ์ โดยถือเป็นคติว่าปลายเดือนสิบของแต่ละปี เป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผล เป็นช่วงที่ชาวเมืองซึ่งส่วนใหญ่ยังชีพด้วยการเกษตร ชื่นชมยินดีในพืชของตน ประกอบด้วยเชื่อกันว่า ในระยะเดียวกันนี้เปรตที่มีชื่อว่า “ปรทัตตูปชีวีเปรต” จะถูกปล่อยใหัขึ้นมาจากนรก เพื่อมาร้องขอส่วนบุญต่อลูกหลานญาติพี่น้อง เหตุนี้ ณ โลกมนุษย์จึงได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปไห้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่น้อง ลูกหลานที่ล่วงลับไป โดยการจัดอาหารคาวหวานวางไว้ที่บริเวณวัด เรียกว่า “ตั้งเปรต” ตามพิธีไสยเวทอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้พัฒนามาเป็น “การชิงเปรต” ในเวลาต่อมา

3. เหตุผลของการจัดหฺมฺรับ

* การนายก ทายิกผู้ปลายเดือนสิบอันเป็นระยะเริ่มฤดูฝน “การอิงศาสภิกษุ” ด้วยพืชผลที่ยังไม่ได้ปรุงเป็นอาหารคาวหวานสำหรับขบฉันในทันทีที่ขับประเคน นั้น ชาวเมืองมุ่งหมายจะให้เสบียงเลี้ยงสงฆ์ในฤดูกาลอันยากต่อการบิณฑบาต และเพื่อมิให้ฉันทาคติบังเกิดแก่ทั้งสองฝ่าย คือสงฆ์ และศรัทธาถวายพืชผักสดแก่สงฆ์ จึงใช้วิธี “ สลากภัต” คือจัดใส่ภาชนะตกแต่ง เรียกว่า “สำรับ” หรือ “หฺมฺรับ”

4. “หฺมฺรับ”หัวใจของการทำบุญเดือนสิบ



* การ จัดหฺมฺรับ เป็นการเตรียมเสบียงอาหารบรรจุในภาชนะเพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ในช่วงเทศกาล เดือนสิบ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชน หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ได้นำกลับไปใช้สอยในนรกภูมิ หลังจากถูกปล่อยตัวมาอยู่ในเมืองมนุษย์ช่วงเวลาหนึ่ง และต้องถึงเวลากลับไปใช้กรรมตามเดิม ฉะนั้น บรรดาลูกหลานก็จะต้องจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ อาหาร ฯลฯ มิให้ขาดตกบกพร่องแล้วบรรจงจัดลงภาชนะ ตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้ให้สวยงาม เพื่อทำในสิ่งที่ดีที่สุดให้บรรพบุรุษ ด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความผูกพัน และความกตัญญู

5. การปฎิบัติตามประเพณีสารทเดือนสิบ

* ช่องของการทำบุญเดือนสิบ จะมีวันที่ถูกกำหนดเพื่อดำเนินการเรื่อง “หฺมฺรับ” อยู่หลายวัน และจะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน กล่าวคือ

o วันหฺมฺรับเล็ก ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ เชื่อกันว่าเป็นวันแรกที่วิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้รับอนุญาต ให้กลับมาเยี่ยมลูกหลาน ซึ่งลูกหลานจะจัดสำหรับอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัด เป็นการต้อนรับ บางท้องถิ่นเรียกวันนี้ว่า “วันรับตายาย”

o วันจ่าย ตรงกับวันแรม ๑๓ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่คนนครต้องตระเตรียมข้าวของสำหรับจัดหฺมฺรับ โดยไปตลาดเพื่อจัดจ่ายข้าวของเป็นการพิเศษกว่าวันอื่นๆ

o วันยกหฺมฺรับ ตรงกับวันแรม ๑๔ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่ลูกหลานร่วมกันแบกหาม หรือ ทูนหฺมฺรับที่จัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระที่วัด อาจจะรวมกลุ่มคนบ้านไกล้เรือนเคียงไปเป็นกลุ่มตามธรรมชาติ หรือบางทีอาจจะจัดเป็นขบวนแห่เพื่อความคึกคักสนุกสนานก็ได้

o วันหฺมฺรับใหญ่ หรือวันหลองหฺมฺรับ ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่นำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดครั้งใหญ่ ทำพิธีบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน และตั้งเปรตเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้วิญญาณที่ไม่มีลูกหลานมาทำบุญให้ ขณะเดียวกันก็ทำพิธีฉลองสมโภชหฺมฺรับที่ยกมา

o การจัดหฺมฺรับ ส่วน ใหญ่การจัดหฺมฺรับ ส่วนใหญ่จะใช้ของแห้งที่เก็บไว้ได้นาน เพราะสะดวกในการจัดเก็บและรักษา โดยนิยมจัดในภาชนะกระบุง กะละมัง ถัง ถาด วิธีจัดจะใส่ข้าวสารรองชั้นล่าง ตามด้วยเรื่องปรุงพวกของแห้งที่ใช้ในครัว ชั้นถัดมาเป็นพวกอาหารแห้ง หยูกยา หมากพลู และของใช้จำเป็นประจำวัน ส่วนหัวใจของหฺมฺรับที่เป็นเอกลักษณ์ขาดไม่ได้มี ๕ อย่าง (บางแห่งมี๖อย่าง) เป็นคติความเชื่อที่ใช้รูปทรง ลักษณะของขนมเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งจำเป็น และควรมีสำหรับเปรต คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมกง(ไข่ปลา) และลาลอยมัน

6. สัญลักษณ์ของขนมที่ใช้ในการจัดหฺมฺรับ



* ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนเรือ แพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพ เหตุเพราะขนมพองนั้นแผ่ดังแพมีน้ำหนักเบาย่อมลอยน้ำ และขี่ข้ามได้



* ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม เหตุเพราะขนมลามีรูปทรงดังผ้าถักทอ พับ แผ่ เป็นผืนได้



*ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า สำหรับใช้เล่นต้อนรับสงกรานต์ เหตุเพราะขนมบ้ามีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า การละเล่นที่นิยมในสมัยก่อน



* ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงิน เบี้ย สำหรับใชัสอย เหตุเพราะรูปทรงของขนมคล้ายเบี้ยหอย



* ขนมกง(ไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องปรัดับ เหตุเพราะรูปทรงมีลักษณะคล้ายกำไล แหวน



* ลาลอยมัน เป็นสัญลักษณ์แทนฟูก และหมอน ซึ่งมีในบางท้องถิ่น

7. การตั้งเปรต



* ใน การทำบุญสารทเดือนสิบ ลูกหลานจะทำขนม หรืออาหารนำไปวางในที่ต่างๆของวัด ตั้งที่ศาลาซึ่งเป็นศาลาสำหรับเปรตทั่วไป และริมกำแพงวัด หรือใต้ต้นไม้ สำหรับเปรตที่ปราศจากญาติ หรือญาติไม่ได้ทำบุญอุทิศให้ หรือมีกรรมไม่สามารถเข้าในวัดได้ พิธีกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลทำได้โดยการแผ่ส่วนกุศล และกรวดน้ำอุทิศให้ เมื่อเสร็จลูกหลานจะมีการแย่งชิงขนม และอาหารกันที่เรียกว่า “ชิงเปรต”

* การ ชิงเปรต เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากการอุทิศส่วนกุศลแก่เปรต โดยมีพระสงฆ์สวดบังสุกุล พอพระชักสายสิญจน์ที่พาดโยงไปยังอาหารที่ตั้งเปรต ลูกหลานก็จะเข้าไปแย่งเอามากิน ซึ่งของที่แย่งมาได้ถือเป็นของเดนชาน การได้กินเดนชานจากวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นความเชื่อที่ถือกันว่าเป็นการแสดงความรัก เป็นสิริมงคล และเป็นกุศลสำหรับลูกหลาน




เปรต : ญาติพระเจ้าพิมพิสาร

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหาร ณ กรุงราชคฤห์

ทรงปรารถถึงบุตรเศรษฐีผู้ตายไปเป็นเปรต ให้เป็นต้นเหตุ มีความว่า ณ กรุงราชคฤห์ มีเศรษฐีผู้หนึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีบริวารมากจนได้นามว่า มหาธนเศรษฐี เหตุเพราะเป็นผู้มีทรัพย์มาก

มหาธนเศรษฐี มีบุตรชายอยู่คนเดียว จึงเป็นที่รักใคร่ของเศรษฐีและภรรยาเป็นอันมาก ทั้งสองเฝ้าถนอมเกลาเกลี้ยงเลี้ยงดูบุตรชายชนิดที่ยุงมิให้แตะ ริ้นมิให้ไต่ ไรมิให้ตอม เท้ามิให้แตะพื้น ธุลีมิให้เปรอะเปื้อน มลทินใดๆ มิให้มากล้ำกรายแตะต้อง ให้บุตรต้องมามัวหมอง

ครั้นบุตรชายเศรษฐีนั้นเจริญวัย บิดามารดา ก็มาคิดว่า เราทั้งสองมีทรัพย์สินมากมายมหาศาล ถึงลูกเราจะหยิบฉวยเอาไปใช้สักวันละพันกหาปณะ (๑ กหาปณะเท่ากับ ๔ บาท) สิ้นเวลาไปสักร้อยปี ทรัพย์ของเราก็ยังไม่รู้จักหมด แล้วประโยชน์อันใดเล่าที่เราจะเสือกไสให้บุตรของเราต้องไปศึกษาเล่าเรียน ให้ได้รับความยากลำบาก

สองสามีภรรยาผู้เป็นเศรษฐี คิดดังนี้แล้ว ก็มิได้ส่งบุตรชายตนไปศึกษาหาความรู้ ด้วยคิดว่าไปศึกษาวิชาก็เพื่อจะนำมาแสวงหาทรัพย์ แต่เวลานี้ทรัพย์เรามีมากมายจนใช้ไม่หมด แล้วจะยังไปแสวงหาอีกทำไม สุดท้ายก็มิได้ส่งบุตรชายไปเรียนวิชาความรู้ใด ได้แต่ปล่อยให้บุตรชายตนเที่ยวเล่นซุกซนไปตามประสาเด็ก

ครั้งเมื่อบุตรของผู้เป็นเศรษฐีเติบโตเป็นหนุ่ม บิดามารดาก็ไปขอกุมารี ผู้เป็นบุตรสาวของพราหมณ์มหาศาล ผู้เจริญด้วยชาติตระกูล มีรูปโฉมสะคราญตา เพียบพร้อมไปด้วยจริตกิริยามารยาท แต่ขาดธรรม

บุตรชายเศรษฐีนั้น ได้อยู่กินร่วมกับกุมารีนั้น ต่างฝ่ายต่างก็พากันมัวเมาต่อกามคุณทั้ง ๕ มี รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสเป็นต้น

ทั้งสองมิเคยรักษาศีลบริจาคทานบำเพ็ญภาวนาเลย อีกทั้งยังตั้งข้อรังเกียจต่อสมณะชีพราหมณ์ทั้งปวง ต่างพากันใช้จ่ายทรัพย์ที่มีเพื่อบำรุง บำเรอ ตนแต่ถ่ายเดียว มิเคยเหลียวดูความทุกข์ยากของเพื่อมนุษย์ แถมยังดูถูกเหยียดหยามต่างๆ นาๆ

กาลต่อมา บิดามารดาก็ถึงกาลกิริยาตายลง บุตรเศรษฐีพร้อมภรรยาแทนที่จะบังเกิดธรรมสังเวช กลับยิ่งมัวเมาประมาทใช้จ่ายทรัพย์ที่มีอยู่อย่างฟุ่มเฟือย จนในที่สุดทรัพย์สมบัติมหาศาลที่บิดามารดาทิ้งไว้ให้ก็ต้องหมดไป ต้องไปกู้หนี้ยืมสิของผู้อื่นมาเลี้ยงชีวิต ไอ้ครั้นจะคิดทำมาหากินก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรเพราะไร้วิชา กู้มามากๆ เข้าเจ้าหนี้เขาก็เข้ามาทวง เมื่อไม่มีทรัพย์จะใช้หนี้ บุตรเศรษฐีและภรรยาจึงต้องยกบ้านและสมบัติที่มีให้แก่เจ้าหนี้ทั้งปวงที่มาทวง แล้วตนกับภรรยาจึงชวนกันไปอาศัยนอนตามโรงทานหรือศาลาพักร้อนริมทาง ทั้งสองต้องซัดเซพเนจรรอนแรมเที่ยวขอทานเพื่อเลี้ยงชีวิตไปวันๆ ต้องรับความลำบาก ทุกยากเหลือแสน เหตุเพราะขออาหารจากใครๆ ก็มิอยากจะให้ ด้วยเป็นเพราะตอนที่ร่ำรวยก็ชอบที่จะดูถูกเหยียดหยามแก่คนที่ต่ำกว่า ครั้งเมื่อถึงเวลาตนตกต่ำแร้นแค้น เลยมีแต่คนจ้องดูแคลนมิให้อาหาร

ขณะนั้นมีโจรกลุ่มหนึ่ง เดินทางผ่านมาเห็นเข้า จึงกล่าวแก่บุตรเศรษฐีขึ้นว่า เจ้ายังหนุ่มยังมีกำลังแข็งแรง เหตุใดจึงทำตัวเหมือนคนพิการขาดมือ ขาดเท้า เที่ยวขอทาน มาเถิดสหาย จงมาร่วมกับพวกเราเที่ยวลักขโมย ปล้นสดมภ์ ฉกชิงทรัพย์ของผู้คนทั้งหลายกันเถิด จะได้ทรัพย์มาพอเลี้ยงชีพได้ เจ้ามัวแต่เที่ยวขอทานอยู่เช่นนี้ คงมิอาจได้อาหารพอเลี้ยงชีพหรอก

บุตรเศรษฐี จึงกล่าวว่า พี่ชายข้าพเจ้าไม่รู้จักวิธีลักขดมย ข้าพเจ้าคงจะทำมิได้

พวกโจรจึงกล่าวว่า สหายไม่เป็นไรหรอก เรื่องวิธีลักขโมยปล้นสดมภ์น่ะ เดี๋ยวพวกเราจะช่วยสอนให้ ขอให้สหายและภรรยาจงตามไปอยู่กับเรา แล้วทำตามเราสอนก็แล้วกัน

เมื่อบุตรเศรษฐีและภรรยา ตามพวกโจรไปแล้ว ต่อมาโจรก็พากันออกชิงทรัพย์ในบ้านหลังหนึ่ง พร้อมทั้งมอบไม้กระบอง ให้แก่บุตรเศรษฐีแล้วกล่าวว่า

สหาย เมื่อพวกเราเจาะฝาเรือนเข้าไปในบ้าน เจ้าจงยืนดักรออยู่ ณ ประตูเรือน ถ้ามีเจ้าของเรือนวิ่งออกมาทางประตู เจ้าจงตีด้วยไม้ตะบองนี้ให้ตาย จะได้ไม่ไปแจ้งแก่พระราชาว่าพวกเรามาปล้นเอาทรัพย์ไป บุตรเศรษฐีผู้นี้เป็นคนขาดปัญญา ไม่รู้ว่าทำสิ่งใดมีสาระ หรือไม่มีสาระ จึงทำตามคำสอนของพวกโจร ยืนถือไม้ตะบองคุมเชิงอยู่ที่ปากประตูเรือนเช่นนั้น

พวกโจรเมื่อเข้าไปในเรือนได้แล้ว จึงเก็บขนข้าวของทรัพย์สมบัติ ใส่ถุงแบกหนีออกไปทางช่องฝาเรือน

ขณะนั้นเจ้าของเรือน พอทราบว่าโจรเข้ามาขโมยทรัพย์ ก็พากันตื่นกลัว เอะอะโวยวาย หนีออกมาทางประตูบ้าน

บุตรชายเศรษฐีผู้ริเป็นโจร ก็ใช้ไม้ทุบตีเจ้าของบ้าน แต่เนื่องจากเจ้าของทรัพย์ภายในเรือนมีหลายคน โจรมือใหม่จึงสู้แรงไม่ได้ จึงถูกจับประชาทัณฑ์พร้อมกับนำตัวไปถวายพระราชา ฟ้องว่าเป็นโจรมาปล้นทรัพย์ในเรือน

พระราชาครั้นเมื่อไต่สวนเป็นที่ทราบแน่ชัดแล้ว จึงทรงลงพระอาญา ด้วยการมีรับสั่งให้อำมาตย์ นำบุตรเศรษฐีผูกเครื่องจองจำ แล้วให้สวมคอด้วยพวกมาลัยดอกไม้แดง ทาศรีษะด้วยขี้อูฐ พร้อมทั้งนำตระเวนตีกลองร้องป่าวประจานไปทั่วเขตพระนคร เมื่อถึงเขตประหารที่นอกเมืองให้ตัดหัวเสียบประจาน

ขณะที่ขุนทหาร นำลูกเศรษฐีผู้บัดนี้กลายเป็นโจร ถูกเครื่องพันธนาการร้อยรัดกาย ถูกบรรดาทหารเฆี่ยนตีด้วยแส้และหวาย ผ่านมากลางเขตบ้าน ผู้คนชนทั้งปวงก็พากันออกมามุงดู ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่อึงมี่

ครานั้นมีหญิงงามเมือง (โสเภณี) ผู้หนึ่ง มีนามว่า สุลสา นางได้ยินเสียงหมู่ชนก่นด่าวิพากษ์วิจารณ์อยู่เซ็งแซ่ นางจึงชโงกหน้าออกมาดูจากบานหน้าต่างของปราสาทที่นางและมารดาพร้อมบริวารอาศัยอยู่ นางได้แลเห็นบุตรเศรษฐีถูกเฆี่ยนตีประชาทัณฑ์เช่นนั้น ก็เกิดใจเมตตาการุญ ด้วยเหตุว่าเคยรู้จักคุ้นเคยกันมาแต่กาลก่อน

นางจึงได้นำขนมสด ๔ ก้อน พร้อมกับน้ำดื่มไปให้แก่บุตรเศรษฐี พร้อมทั้งยังช่วยขอร้องต่อขุนทหารผู้ควบคุมว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอได้โปรดกรุณาให้เวลาบุรุษผู้ควรรับโทษานุโทษนี้ ได้มีโอกาสหยุดพัก ได้กินขนมสดและดื่มน้ำเสียก่อนเถิด ไหนๆ เขาก็จะมิได้มีโอกาสได้ดื่มกินอีกต่อไปแล้ว ผู้คุมจึงอนุญาต

เวลานั้น พระโมคคัลลานะเถระเจ้า แลเห็นด้วยทิพยจักษุว่า บุตรเศรษฐีผู้นี้จักมาตายเสียวันนี้ เขายังมิได้เคยทำบุญบำเพ็ญกุศลสิ่งใดมาเลยตั้งแต่เกิด มีแต่ทำบาปอกุศล เมื่อตายไปจักไปบังเกิดในนรก ตกอบายภูมิ พระมหาเถระจึงมีใจกรุณา คิดว่าถ้าเราไปอยู่ ณ ที่ตรงนั้นบุตรเศรษฐีผู้นี้ จะได้ถวายขนมสดและน้ำดื่มแก่เรา เมื่อเรารับทานของเขาแล้ว เมื่อถึงคราวที่เขาตายจักได้ไปบังเกิดเป็นรุกขเทวดา ดีหละ...เราจะไปเป็นที่พึ่งแก่เขา

ขณะที่นางสุลสา นำเอาขนมสดและน้ำ มอบให้แก่นักโทษ ผู้กำลังจะโดนประหาร พระมหาโมคคัลลานะจึงเนรมิตกายให้ปรากฏเฉพาะหน้าของนักโทษนั้น

บุตรเศรษฐีผู้เป็นนักโทษประหาร เมื่อได้เห็นพระมหาเถระซึ่งเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ ก็มีจิตเลื่อมใสยินดี จึงอังคาส (ถวายพระ) ขนมสดและน้ำดื่มแก่พระเถระ ด้วยจิตคิดว่าชีวิตเรากำลังจะมอดม้วย เราจะยังมาต้องการประโยชน์อันใดกับอาหารมื้อนี้ เราจะทำให้ขนมสดและน้ำดื่มนี้มีกินไปจนถึงโลกหน้าจะดีกว่า คิดดังนั้นแล้วบุตรเศรษฐีผู้เป็นนักโทษประหาร ก็ถวายขนมและน้ำนั้นแก่พระเถระ

พระมหาเถระเมื่อได้รับขนมและน้ำนั้นแล้ว จึงลงนั้นในที่นั้นเพื่อดื่มและฉันให้บุตรเศรษฐีได้เห็น

บุตรเศรษฐี ได้เห็นเช่นนั้น ยิ่งบังเกิดศรัทธาเลื่อมใสมากขึ้น ผู้คุมจึงพาเดินทางไปสู่ที่ประหาร ขณะที่บุตรเศรษฐีบังเกิดปีติอิ่มเอิบในผลบุญของตนที่ได้กระทำมา จวบจนกระทั่งผู้คุมพาตัวมายังที่ประหาร และลงดาบตัดคอเขา จิตของเขาก็ยังดื่มด่ำเอิบอาบอยู่ในผลบุญที่ตนได้กระทำ

ด้วยเดชแห่งบุญที่บุตรเศรษฐีได้กระทำก่อนตาย หลังจากตายลงแล้ว พลันได้อุบัติเป็นรุกขเทวดา สถิตอยู่ ณ ต้นไทรใหญ่ ที่ขึ้นอยู่ระหว่างซองเขาแห่งหนึ่งนอกกรุงราชคฤห์

ที่จริงบุตรเศรษฐี ควรจะมีวาสนาบังเกิดเป็นเทพยดาชั้นสูง เหตุเพราะได้มีโอกาสทำบุญแก่พระมหาโมคคัลลานะเถระ ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ แต่ด้วยจิตก่อนตายได้หวนระลึกนึกรัก นางสุลสา ว่าของที่เราได้มาแล้วมีโอกาสทำบุญถวายทานแก่พระเถระ เพราะจิตใจที่มากด้วยเมตตาของนาง นางช่างมีจิตใจที่ดีงามเสียเหลือเกิน ตัวเราช่างมีวาสนาน้อย มิได้มีโอกาสอยู่ทำการอุปการะตอบแทนบุญคุณต่อนาง ด้วยความคิดเหล่านี้จึงทำให้จิตของบุตรเศรษฐีนั้น เศร้าหมองลง จึงได้ไปบังเกิดเป็นแค่รุกขเทวดา ถือว่าเป็นภุมเทวดาชั้นต่ำ

ถ้าบุตรเศรษฐีนั้น จักขวนขวายดำรงวงศ์ตระกูลในเวลาเจริญวัย ก็จะได้เป็นเศรษฐีปานกลางดำรงวงศ์ตระกูลในเวลาเจริญวัย ก็จะได้เป็นเศรษฐีปานกลาง ถ้าขยันประกอบการงานในปัจฉิมวัย ก็จะได้มีโอกาสเป็นเศรษฐีน้อย แต่ถ้าบวชในปฐมวัย ก็จักได้เป็นพระอรหันต์ ถ้าบวชในมัชฉิมวัยจักได้บรรลุพระสกทาคามี หรือไม่ก็เป็นพระอนาคมี แต่ถ้าบวชในปัจฉิมวัยจักได้บรรลุพระโสดาบัน แต่เพราะเขาคบคนพาล จึงกลายเป็นนักเลงผู้หญิง นักเลงสุรา นักเลงการพนัน ชอบประพฤติทุจริตผิดศีลเสมอ ไม่เคารพผู้ใหญ่จนเป็นเหตุให้ทรัพย์ทั้งหลายพินาศเสียหายจนสิ้น แม้แต่ชีวิตก็ไม่เหลือ
กาลต่อมา นางสุลสา ได้มีโอกาสไปเที่ยวเล่นนอกเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งภูเขา อันต้นไทรใหญ่ขึ้นอยู่ และ ณ ต้นไทรนั้น ยังเป็นที่สถิตของรุกขเทวดาบุตรเศรษฐี รุกขเทวดานั้นเมื่อได้เห็นนางสุลสาจึงจำได้บังเกิดความพึงพอใจต่อนาง จึงบันดาลให้มืดไปทั้งบริเวณรอบภูเขาทั่วภาคพื้น แล้วรุกขเทวดานั้นได้นำนางสุลสาไปสู่ยังวิมานอันเป็นที่อยู่ของตนบนต้นไทรใหญ่นั้น แล้วเล่าเรื่องแต่หนหลังให้นางสุลสาได้ทราบ มนุษย์และเทวดาทั้งสองนั้นจึงอยู่ร่วมกันสิ้นเวลาตลอด ๗ วัน

กล่าวฝ่ายมารดาของนางสุลสา เมื่อเห็นว่าบุตรีของตนหายไปจึงออกตามหาไปในที่ต่างๆ ด้วยความอาลัยรักในบุตรีของตนจนสิ้นเวลาไป ๗ วัน ก็ยังมิอาจได้พบบุตรีของตนได้ จึงนั่งลงร้องไห้อยู่ข้างทางที่ผู้คนสัญจรไปมา

คนทั้งหลายจึงพากันเข้าไปสอบถาม พอรู้ความก็บังเกิดความสงสาร แต่ก็สุดปัญญาที่จะช่วยนางผู้เฒ่านั้นได้ จวบจนเวลาล่วงเลยไปมีชายผู้หนึ่งเดินทางผ่านมาเห็นเข้า จึงชักชวนยายผู้เฒ่าให้เข้าไปเฝ้าถวายอภิวาท พระมหาโมคคัลลานะเถระ ณ เวฬุวนาราม เพื่อขอให้พระเถระผู้มากไปด้วยฤทธิ์พิจารณาช่วยเหลือ

ครั้นพระมหาเถระโมคคัลลานะ ได้ทราบจึงกล่าวแก่มารดาของนางสุลสาว่า นับแต่นี้ไปอีก ๗ วัน พระบรมสุคตเจ้า จักทรงแสดงธรรมที่เวฬุวันมหาวิหาร ขออุบาสิกาจงเดินทางมาสดับพระสัทธรรมนั้น แล้วอุบาสิกาจะได้เห็นนางสุลสาบุตรีปรากฏตัวอยู่นอกที่ประชุมนั้น

กาลต่อมานางสุลสา จึงได้กล่าวแก่รุกขเทวดานั้นว่า นับแต่ข้าพเจ้ามาอยู่ในวิมานของท่าน ก็สิ้นเวลาไป ๗ วันแล้ว บัดนี้ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นห่วงมารดาของข้าพเจ้า ถ้ามารดาออกตามหา คงจะต้องได้รับความยากลำบากทุกข์มากเป็นแน่ ขอท่านจงนำข้าพเจ้ากลับไปส่งแก่มารดาเถิด

รุกขเทวดานั้นจึงได้นำนางสุลสาไปส่งให้แก่มารดา ในขณะที่พระบรมศาสดา ทรงแสดงธรรมอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ให้นางสุลสายืนอยู่นอกที่ประชุมพร้อมรุกขเทวดา แต่มิมีใครมองเห็นรุกขเทวดา เห็นแต่นางสุลสา

ชนทั้งหลาย เมื่อเห็นนางสุลสามาปรากฎยืนอยู่ จึงพากันซักถามนางว่าเจ้าไปไหนมา มารดาของเจ้ากำลังเศร้าโศกทุกข์ร้อน ดูคล้ายจะเป็นบ้า ทำไมเจ้าถึงทำเหตุฉิบหายให้เกิดแก่ตนเช่นนี้

นางสุลสา จึงเล่าให้แก่ชนทั้งหลายได้ฟังว่า ไปอยู่กับรุกขเทวดาบุตรเศรษฐี

ชนทั้งหลายพอได้ฟัง ต่างก็พากันส่ายหน้า แสดงอาการกิริยาไม่เชื่อแล้วกล่าวว่าไม่จริงหรอก เจ้ากำลังพูดโกหก บุตรเศรษฐีนั้นเป็นผู้มีความประพฤติเลวร้าย ชั่วช้าลามก มีบุญอันใดที่จะทำให้ไปบังเกิดเป็นรุกขเทวดา

นางสุลสา จึงได้กล่าวขึ้นว่า บุตรชายเศรษฐีแม้จะทำทุจริตทั้งทางกาย วาจา ใจ แต่ก่อนตาย เมื่อข้าพเจ้านำขนมสดและน้ำดื่มไปให้เขากินก่อนตาย เขากลับไม่กิน แต่มีศรัทธาบริจาคขนมสดและน้ำดื่มนั้นถวายแก่พระเป็นเจ้ามหาโมคคัลลานะผู้เรืองฤทธิ์ ด้วยกุศลกรรมดังกล่าวจึงทำให้เขาไปบังเกิดเป็นรุกขเทวดา

ชนทั้งหลาย พอได้ฟังนางสุลสาเล่า ต่างก็พากันเปล่งสาธุพร้อมกับเกิดความเลื่อมใส อัศจรรย์ใจ ปีติโสมนัสเป็นที่ยิ่งนัก แล้วพากันกล่าวจนเกิดโกลาหลว่า โอ้! ช่างอัศจรรย์จริงหนอ... พระสมณะศากยบุตรช่างมีคุณอันวิเศษจริงหนอ... พระอรหันต์ของพระผู้มีพระภาค ช่างเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลกจริงหนอ แม้แต่คนทุจริตเข็ญใจ น้อมถวายเครื่องสักการบูชาเพียงเล็กน้อย ก็ยังเป็นผลส่งให้ไปบังเกิดเป็นเทวดา ประเสริฐจริงหนอๆ... สาธุ... สาธุ...

ภิกษุทั้งหลาย ครั้นได้สดับเสียงของมหาชนเป็นโกลาหลอยู่นอกที่ประชุมเช่นนั้น จึงนำความที่ได้สดับเอาไปกราบทูลถามแต่พระบรมสุคตเจ้า

องค์สมเด็จพระบรมสุคตเจ้า จึงได้มีพุทธฏีกาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่บุคคลมาถวายทานแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ถือว่าประเสริฐแล้ว พระอรหันต์เปรียบประดุจดังเนื้อนา ผู้ถวายทานทั้งหลายประดุจดังชาวนา สิ่งของที่ควรถวายทั้งปวงเปรียบประดุจดังพันธุ์พืชที่จะปลูกลงบนเนื้อนา

เมื่อชาวนา ปลูกพืชพันธุ์ดีลงบนเนื้อนาที่ดี พร้อมทั้งดูแลรักษาอย่างดี (หมายถึงมีศรัทธา) ย่อมเป็นที่มุ่งหวังได้ว่า พันธุ์พืชนั้นๆ ย่อมเจริญเติบโตดี ผลก็ย่อมออกมาดี

ผลของพืชนั้น (หมายถึงบุญที่ได้) ย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้ให้ ผู้ถวาย ผู้บริจาค ผู้อุทิศ (ผู้ปลูกหรือชาวนา) และยังเป็นประโยชน์แก่เปรตทั้งหลาย แก่หมู่ญาติทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้ว เมื่อผู้ให้ทาน ผู้ถวาย หรือชาวนาผู้ปลูกพืชนั้น ทำการอุทิศ บุญจึงมีแก่ผู้ให้ ผู้ถวาย ผู้อุทิศ หรือชาวนาผู้ปลูกพืชแล้วแบ่งปันแก่เปรตและญาติทั้งหลาย ผู้ให้ ผู้ถวายนั้นย่อมรุ่งเรืองเจริญ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ส่วนเปรตผู้ได้รับผลบุญนั้นแล้ว ย่อมพ้นจากสภาพความเป็นเปรตด้วย การยินดีในบุญที่ญาติอุทิศให้ ตัวอย่างเช่น เปรตผู้เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารเป็นต้น ดังเรื่องที่มีมาแล้วความว่า

ครั้งเมื่อพระราชาพิมพิสาร และบริวารได้ทรงสดับพระสัทธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโปรดจนบรรลุเป็นพระโสดาปัตติผลพร้อมหมู่ชนและบริวารเป็นอันมาก

องค์ราชาพิมพิสาร ทรงมีจิตศรัทธา ทรงถวายอุทยานเวฬุวันพร้อมสร้างเป็นวัด เพื่อให้พระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์สาวก ได้อาศัยเจริญสมณะธรรม กาลต่อมา คืนวันหนึ่ง องค์ราชาพิมพิสารขณะที่ทรงกำลังบรรทม พลันทรงได้ยินเสียงร้องโหยหวนอันน่ากลัวปรากฎขึ้นภายในพระราชวัง

เช้าขึ้นพระราชาพิมพิสาร จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทรงกราบทูลถามถึงที่มาของเสียง ว่าเป็นเสียงอะไร ทำไมถึงได้โหยหวนน่าสะพรึงกลัวเช่นนั้น

องค์สมเด็จพระบรมสุคตเจ้า จึงทรงมีพุทธฏีกาตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตรทรงอย่าได้หวาดกลัวไปเลย เสียงที่ทรงได้ยินนั้นจะไม่เป็นผลร้ายอันใดแก่พระองค์เลย แล้วทรงเล่าเหตุที่มาของเสียงเหล่านั้นให้แก่พระราชาพิมพิสารได้ทรงสดับ ความว่า

อดีตกาลนั้นย้อนหลังจากนี้ไป ๙๒ กัป พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าพระปุสสะสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงได้รับทูลอาราธนาจากพระราชาผู้ครองนครราชคฤห์ในอดีต ให้เสด็จประทับอยู่ในพระราชอุทยานพร้อมภิกษุสงฆ์บริวารอีก ๕๐๐ รูป เพื่อที่จะถวายภัตตาหาร เหตุการณ์ได้ดำเนินอยู่เช่นนี้เป็นเวลาหลายวัน จวบจนพระราชบุตรทั้ง ๓ ขององค์ราชา ได้ทูลขออนุญาตแก่พระบิดา เพื่อที่จะมีโอกาสถวายทานแก่พระปุสสะพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ ด้วยพระองค์เองบ้าง

ราชาราชคฤห์ จึงทรงอนุญาตให้พระราชบุตรทั้ง ๓ ทำการถวายทานแก่พระปุสสะพระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ทั้งหลายได้

พระราชบุตรทั้ง ๓ จึงได้ไปชวนขุนคลัง (ซึ่งก็คือพระราชาพิมพิสารในชาติปัจจุบัน) ให้มารวมจัดหาอาหารทั้งคาวและหวาน ขุนคลังพอได้รับหน้าที่ให้เป็นหัวหน้าจัดหาอาหารเลี้ยงพระ จึงชักชวนบรรดาญาติๆ ของตน ให้มาช่วยทำอาหารเลี้ยงพระ ต่างฝ่ายต่างก็ช่วยกันเป็นที่โกลาหล ขยันขันแข็ง ใหม่ๆ ตอนช่วงแรกๆ บรรดาญาติ ของขุนคลัง ก็ยังปฏิบัติตนดีอยู่ แต่พอเวลาล่วงเลยไป ชักเกิดความประมาท แอบบริโภคอาหารก่อนพระภิกษุสงฆ์เสียบ้าง แอบขโมยอาหารที่เขาทำไว้เพื่อถวายแก่พระพุทธเจ้า และหมู่สงฆ์ไปเลี้ยงลูกเมียและญาติของตนเสียบ้าง บรรดาญาติๆ ของขุนคลังแอบทำผิดอยู่เช่นนี้เป็นนิตย์ ด้วยความละโมบ
กาลต่อมา พระราชบุตรทั้ง ๓ และขุนคลัง กับบรรดาญาติบริวารตายลง

พระราชบุตรทั้ง ๓ และขุนคลัง ตายแล้วได้ไปเสวยสุขอยู่บนสวรรค์ มีวิมานอันเรืองรองและโภคทรัพย์อันประณีตเลิศรสมากมายเป็นเครื่องอยู่ ส่วนบรรดาญาติๆ และบริวารของขุนคลัง ที่แอบขโมยอาหารของพระภิกษุสงฆ์ ต้องไปบังเกิดในขุมนรกสิ้นกาลช้างนาน ครั้นพ้นจากนรกนั้นแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดเป็นเปรต จำพวก ปรทัตตูปชีวี คือเปรตจำพวกมีผลบุญของญาติเป็นอาหาร

ปรทัตตูปชีวีเปรต เป็นเปรตที่มีเศษอกุศลอันเบาบาง จึงมีจิตอันระงับทุกข์โศกได้บางขณะ จึงมีโอกาสรับรู้บุญที่หมู่ญาติอุทิศให้ เมื่อรับรู้แล้วอนุโมทนาผลบุญนั้นๆ ความอดอยาก ยากแค้น ก็จะบรรเทาเบาบาง หรือหายไปสิ้น ด้วยเดชบุญของญาติ

แต่ถ้ายังมิได้มีญาติระลึกถึง ไม่อุทิศผลบุญให้ เปรตจำพวกนี้ ก็จะซัดเซพเนจร เร่ร่อน แสวงหาผลบุญจากหมู่ญาติคนต่อๆ ไป ถ้ายังมิได้ก็จะเวียนกลับมา รอใหม่ วนเวียนอยู่ใกล้ๆ หมู่ญาติ ด้วยความหวังว่า

“เมื่อใด ญาติของเรา ทำบุญกุศลแล้ว เขาคงอุทิศให้แก่เราบ้าง” แต่เมื่อญาติทำบุญแล้วมิได้อุทิศผลบุญให้ หมู่เปรตพวกนี้ ก็จะเดินวนเวียนไปมา ด้วยความผิดหวัง หิวกระหาย ทุรนทุราย บางทีถึงกับเป็นลมล้มลงหมดสติไป ครั้นพอมีลมพัดมากระทบกาย ก็ฟื้นคืนสติมาได้แล้วคิดปลอบใจตนเองว่า

“วันนี้ญาติเราระลึกไม่ได้ว่ามีเรา คราวต่อไปเขาคงจะระลึกได้”

เมื่อทำบุญกุศล เขาคงจะอุทิศผลบุญให้เรา ในคราวหน้า และแล้วเปรตนั้น ก็ทนอดอยาก หิวกระหายต่อไป ด้วยความหวังว่า สักวันเราจะได้อาหารจากหมู่ญาติที่ระลึกถึง

ปรทัตตูปชีวีเปรต ผู้เป็นญาติของพระราชาพิมพิสาร ได้รอคอยผลบุญของพระราชาพิมพิสาร ด้วยความอดอยาก หิวกระหาย จนกาลเวลาล่วงเลยมาจนถึง พระพุทธเจ้ากกุสันโธสัมมาสัมพุทธเจ้า หมู่ชนผู้คนทั้งหลายพอได้ฟังพระสัทธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ก็บังเกิดปีติโสมนัสยินดี มีศรัทธาที่จะบริจาคทานถวายปัจจัย ๔ แก่หมู่สงฆ์ ซึ่งมีพระกกุสันโธพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วแบ่งผลบุญอุทิศให้แก่หมู่ญาติของตนที่ล่วงลับไปแล้ว

ฝูงเปรตปรทัตตูปชีวี บางพวกที่ได้รับผลบุญของญาติ ก็แสดงความชื่นชมโสมนัสยินดี ดุจดังบุรุษสตรีผู้เดินทางมากลางทะเลทราย อดอยากและกระหายน้ำเป็นกำลัง ครั้นเดินมาเจอแหล่งน้ำและอาหารก็ลิงโลดยินดีเปล่งสาธุการ ฝูงเปรตเหล่านั้นก็ยกมือประนมเหนือเศียรเกล้า กล่าวสาธุรับผลบุญของญาติที่อุทิศส่งให้ แล้วได้พ้นจากอัตภาพของเปรตชนิดนั้นไปบังเกิดตามแต่บุพกรรมของตนๆ แสนสาหัสจึงชวนกันไปเฝ้า พระพุทธเจ้ากกุสันโธสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทูลถามขึ้นว่า

“หมู่ญาติ ของพวกข้าพระบาท จักระลึกถึงและอุทิศผลบุญให้พวกข้าพระบาทพ้นจากอัตภาพเปรตนี้เมื่อใดพระเจ้าข้า”

สมเด็จพระบรมศาสดา กกุสันโธพุทธเจ้า จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

ดูก่อนผู้จมทุกข์ แม้สิ้นกาลในศาสนาของเรา ท่านทั้งหลายก็ยังไม่พ้นอัตภาพของเปรต จวบจนเราตถาคตนิพพานไปแล้วสิ้นเวลานานจนแผ่นดินสูงขึ้นได้ ๑ โยชน์ ปรากฏพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โกนาคมนะพุทธเจ้า พวกท่านทั้งหลายจงไปถามพระพุทธโกนาคมนะ พระองค์นั้นเถิด

จำเนียรกาลหลังจากสูญสิ้นศาสนา ของพระกกุสันโธพุทธเจ้าแล้ว กาลล่วงเลยมานับเป็นเวลาพุทธันดรหนึ่ง (เวลาระหว่างพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งกับอีกพระองค์หนึ่งบังเกิดขึ้น) ลุถึงศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโกนาคมนะ หมู่เปรตเหล่านั้นก็เข้าไปทูลถาม องค์สมเด็จพระโกนาคมนะสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงมีพุทธฎีกาตรัสว่า

“แม้สิ้นศาสนาของเรา ท่านทั้งหลาย ก็ยังมิได้พ้นจากอัตภาพเปรตจวบจนแผ่นดินสูงขึ้นอีก ๑ โยชน์ จักปรากฏพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปพุทธเจ้า ขอท่านทั้งหลายจงรอทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเทอญ”

หมู่เปรตญาติพระราชาพิมพิสาร ก็อดทนอดกลั้นความหิวกระหาย ทุกข์ทรมานต่อไปจนลุถึงสมัยที่พระมหามุนีศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระนามว่ากัสสปพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น หมู่เปรตเหล่านั้นก็พากันเข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ จึงทรงมีพระดำรัสตรัสว่า

“แม้ในศาสนาของเรานี้ ท่านทั้งหลายก็ยังจะไม่พ้นอัตภาพของเปรต จนกว่าเราตถาคตนิพพานไปแล้ว รอเวลาจนแผ่นดินสูงขึ้นมีประมาณ ๑ โยชน์ จักมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงนามว่าพระศรีศากยมุนีโคดมมาตรัสรู้ ในกาลนั้นจะมีขัตติยราช ทรงนามว่าพระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็นญาติของพวกท่านทั้งหลาย ได้สดับพระสัทธรรมจนมีดวงตาเห็นธรรมมีจิตโสมนัสเลื่อมใส สร้างวัดเวฬุวันถวาย รุ่งขึ้นจะถวายทานอันมีปัจจัย ๔ เป็นต้น

“องค์สมเด็จพระบรมศาสดาศากยมุนีโคดมพุทธเจ้า จักนำพาญาติของเธออุทิศผลบุญให้แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายเมื่อได้รับผลแห่งทานครั้งนั้นแล้ว ก็จักพ้นจากความทุกข์เดือดร้อน เปรตวิสัยก็จะอันตรธานหายไปจากตัวเธอทั้งหลายในกาลนั้น”

เมื่อองค์สมเด็จพระจอมมุนีกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระดำรัสตรัสดังนี้แล้ว หมู่เปรตทั้งหลายนั้นก็พากันยินดี ต่างฝ่ายต่างละล่ำละลัก กล่าวว่า ข่าวดีแล้ว ข่าวมงคลแล้ว ชาวเราเอย อัตภาพนี้จักสิ้นสุดแก่พวกเราอีกไม่ช้าแล้ว ความหิวกระหายทุกข์ยากเดือดร้อนจักได้รับการผ่อนคลาย ชำระให้หายด้วยผลบุญของพระราชาพิมพิสารผู้เป็นญาติของเรา แม้จะต้องทนรอไปอีกจนสิ้นเวลาพุทธันดร ก็ยังดีกว่าที่ชาวเราจะรอโดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ความหวังเรามีแล้ว แสงสว่างจะปรากฏแล้ว ข่าวนี้ช่างเป็นมงคลนัก ข่าวนี้ช่างเป็นมงคลนัก

หมู่เปรตเหล่านั้นต่างพากันแสดงกิริยาลิงโลดยินดี ในข่าวที่ได้รับรู้ด้วยเดชแห่งข่าวดีมีหวังนี้ สามารถทำให้ความหิวกระหาย ความทุกข์เดือดร้อนที่ปรากฏอยู่อย่างมิรู้เวลาจบสิ้น พอได้ฟังข่าวดีความทุกข์เดือดร้อนเหล่านั้น พลันได้ผ่อนคลายลงไป ช่างเป็นเวลาที่น่ายินดีของหมู่เปรต

ครั้นกาลเวลาเนิ่นนานมา จนสิ้นสุดศาสนาของพระมหามุนีกัสสปะพุทธเจ้า วันคืนผันผ่านไปนานแสนนาน จนแผ่นดินสูงขึ้นอีก ๑ โยชน์ จนมาถึงกาลศาสนาของเราสมณโคดม ญาติของหมู่เปรตเหล่านั้นก็ได้บังเกิดมาเป็น องค์มหาบพิตรพิมพิสารราชา เมื่อพระองค์ทรงถวายอุทยานแล้วสร้างอารามเวฬุวันถวายแก่ตถาคตและหมู่สงฆ์ แต่มิได้อุทิศผลบุญนั้นให้แก่หมู่ญาติเปรตผู้ได้รับความทุกข์ยากลำบากมาช้านาน เปรตเหล่านั้นจึงมาส่งเสียงร้องเพื่อขอส่วนบุญ

เมื่อองค์ราชาพิมพิสาร ทรงสดับพุทธฎีกาดังนั้น จึงทรงทูลถามว่าข้าพระองค์จักถวายทานในวันรุ่งขึ้น แล้วแบ่งบุญให้แก่หมู่เปรตเหล่านั้นจักได้รับส่วนบุญหรือไม่พระเจ้าข้า

พระบรมศาสดาทรงตรัสตอบว่า “ได้ซิมหาบพิตร”

พระราชาพิมพิสาร จึงทูลอาราธนาพระบรมศาสดาให้เสด็จพร้อมหมู่สงฆ์ เข้าไปรับทานในพระราชวังในวันรุ่งขึ้นแล้วจึงเสด็จกลับ

พอถึงเวลารุ่งเช้า องค์สมเด็จพระบรมสุคตเจ้าพร้อมหมู่สงฆ์ จึงเสด็จไปยังพระราชฐาน ของพระเจ้าพิมพิสาร เพื่อรับมหาทาน

องค์ราชาพิมพิสาร พร้อมบริวาร ได้ทรงให้การถวายสักการะต้อนรับพระผู้มีพระภาคและสงฆ์บริษัทเป็นอย่างดียิ่ง ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาทรงถวายฐานียะโภชนาหารอันประณีต แต่ละอย่างล้วนเลิศรส ทั้งคาวและหวาน

เมื่อพระผู้มีพระภาคและหมู่สงฆ์ ทรงทำภัตรกิจเสร็จแล้ว ทรงแนะให้พระราชาพิมพิสาร ทรงหลั่งน้ำอุทิศผลบุญแก่หมู่เปรตด้วยคำว่า

“อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหตุ ญาตะโย”
ขอผลบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า
ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงเป็นสุข เป็นสุข เถิด

ครานั้นพระบรมสุคตเจ้า ได้ทรงเนรมิต ให้องค์ราชาพิมพิสารและบริวารได้เห็นเปรตทั้งหลาย ว่าเมื่อได้รับผลบุญจากญาติอุทิศให้แล้ว มีสภาพเช่นไร

เมื่อพระราชาพิมพิสาร ทรงหลั่งน้ำ ขณะนั้นสระโบกขรณีอันประกอบด้วยดอกปทุม ก็บังเกิดแก่บรรดาเปรตเหล่านั้น ให้ได้ดื่มกิน อาบชำระล้างร่างกาย บรรเทาความกระหาย หมดความกระวนกระวายลงไปด้วยพลัน อีกทั้งยังมีผิวพรรณเหลืองอร่ามดุจทองเนื้องามดูแล้วเจริญตา ร่างกายที่พิกลพิการก็กลับคืนดังคนปกติที่งามสง่า
อีกทั้งยังได้รับความซึมซาบ จากอาหารทั้งคาวและหวานที่เป็นทิพย์ทำให้ร่างกายที่ผอมแคระแกร็น ก็กลับกลายมีน้ำมีนวลอ้วนพี มีความสุข อิ่มเอิบ ที่ได้รับซึมซาบจากรส
ฝูงเปรตเหล่านั้น แม้จะมีสภาพร่างกายที่ผ่องใสเป็นสุข แต่ก็ยังมิได้มีผ้านุ่งผ้าห่ม องค์ราชาพิมพิสาร จึงได้ทูลถามพระบรมสุคตเจ้าว่าจะทำประการใด

องค์สมเด็จพระบรมสุคตเจ้า จึงทรงมีพุทธฎีกาตรัสว่า ให้ถวายผ้าสบงจีวร และผ้านิสีทนะ แก่พระภิกษุสงฆ์

พระราชาพิมพิสาร มีรับสั่งให้บริวาร จัดหาผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้ารองนั่งนำมาถวายแก่ภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วทรงอุทิศผลบุญนั้นให้แก่บรรดาหมู่เปรตทั้งหลาย

ผลบุญอันนั้น ทำให้บังเกิดเครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ที่นั่งอันเป็นทิพย์พร้อมวิมานที่ปรากฎบนอากาศแก่เปรตเหล่านั้น

เปรตเหล่านั้น เมื่อได้รับผลบุญของญาติ แล้วจึงเปล่งสาธุการ พากันเข้าไปอยู่ยังวิมานที่ปรากฏอยู่บนอากาศ

พระราชาพิมพิสาร ครั้นได้เห็นอานิสงส์ในการให้ทาน และอุทิศผลบุญแก่บรรดาหมู่เปรตที่เป็นญาติ ทำให้ผู้จมทุกข์มีความสุขเห็นปานนี้ทรงมีความรื่นเริงยินดี เลื่อมใสศรัทธาในการทำทานมากยิ่งขึ้น จึงทรงทูลอาราธนาพระบรมศาสดาและภิกษุสงฆ์ มารับทานต่ออีก ๗ วัน

พระบรมศาสดาพร้อมหมู่สงฆ์ เมื่อได้ทรงฉลองศรัทธา แก่องค์ราชาพิมพิสารสิ้นเวลา ๗ วันแล้ว จึงทรงกล่าวอนุโมทนาคาถาว่า

“การทำบุญ เพื่ออุทิศผลบุญแก่เปรตนั้น ชื่อว่าเป็นการบูชาญาติอย่างยิ่ง”

พวกเปรตเมื่อได้รับผลบุญแล้ว ย่อมพ้นจากอัตภาพของเปรตในทันที

สรุป

มหาธนะศาลและภรรยา แม้จะมีทรัพย์มาก แต่ขาดปัญญา เลี้ยงบุตรด้วยความหลง มิได้ให้แม้การศึกษาปัญญาแก่บุตร และในที่สุดบุตรก็มิอาจดำรงวงศ์สกุลเอาไว้ได้ แม้แต่บ้านก็รักษาเอาไว้มิได้ เหตุเพราะพ่อแม่รังแกบุตร

บุตรเศรษฐี เป็นผู้มัวเมาประมาทขาดสติ หลงระเริงอยู่ในกามคุณ มัวเมาอยู่ในวัย จมปรักอยู่ในทจริตทั้งกาย วาจา ใจ จนต้องทำร้ายตนและคนรอบข้าง แม้แต่ภรรยาสุดที่รัก ก็ต้องตกไปเป็นทาสของโจร ถึงแม้จะยังพอมีวาสนาให้ได้ถวายทานแก่พระมหาโมคคัลลานะเถระเจ้าก่อนตาย แต่ด้วยใจที่หมกมุ่นจมปรัก จึงไปหลงรักนางสุลสา ด้วยจิตครุ่นคิดแก่อกุศล จึงพาตนอับจนต้องมาเกิดเป็นรุกขเทวดาชั้นต่ำ แทนที่จะไปบังเกิดในที่ที่ดีกว่า ทั้งที่วาสนาพอจะนำพาไปได้ มาเกิดเป็นบุตรเศรษฐีมีทรัพย์มหาศาลก็นับว่ามีวาสนาดีกว่าผู้อื่นอยู่แล้ว ซึ่งก่อนตายยังได้รับการโปรดด้วยเมตตาจากพระโมคคัลลานะผู้เรืองฤทธิ์ แทนที่ชีวิตจะไปดีกว่าที่เป็นอยู่ สุดท้ายก็ต้องไปทนคุดคู้อยู่ในวิมานแคบๆ บนต้นไทร เช่นนี้ก็ต้องเรียกว่า เกิดมาด้วยบุญ แต่ไม่ยอมสร้างบุญ เลยต้องมาขาดทุน เพราะไม่ทำบุญเพิ่ม

นางสุลสา เป็นผู้มีวาสนาผูกพันกันมากับบุตรเศรษฐี ถึงได้อนุเคราะห์กันข้ามภพข้ามชาติ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่เกิดมาแล้วจะรักใคร่ศรัทธา คบหากันได้นั้น ต้องอาศัยเหตุปัจจัยคือ บุญวาสนาและบุพกรรมในปัจจุบัน เป็นเครื่องนำพา

บุญวาสนา คือ สิ่งที่สร้างสมกันมาแต่อดีตชาติ
บุพกรรม คือ สิ่งที่ร่วมกระทำในปัจจุบันอันเป็นการกระทำที่น่ายินดีต่อกัน

มารดาของนางสุลสา ทำให้เราท่านทั้งหลายได้เห็นว่า ความหมายของความเป็นแม่ไม่มีคำว่าแก่เกินกาล จะอายุมากหรือน้อย ผู้เป็นแม่ก็ยังคอยที่จะอนุเคราะห์ ดูแลลูกหลานด้วยหัวใจที่รักและห่วงใย ใส่ใจในทุกกาล ถึงลูกจะทอดทิ้ง ทำสิ่งที่เลวร้ายต่อมารดาสักปานใด แต่หัวใจของแม่ก็ให้อภัยแก่บุตรได้เสมอ

พระมหาโมคคัลลานะ พระเถระผู้รุ่งเรืองฤทธิ์ คงจะเป็นเพราะบุพกรรมที่เคยร่วมกระทำกับบุตรเศรษฐี จึงทำให้ท่านได้เห็นบุรุษนี้ปรากฏอยู่ในข่ายญาณ ท่านจึงมาโปรดให้บุรุษนั้นพ้นจากการตกนรก เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ทำบุญมาดีแล้วแต่ชาติปางก่อน ย่อมได้รับผลในปัจจุบัน

พระราชบุตรทั้ง ๓ ของราชานครราชคฤห์ เห็นประโยชน์ของการถวายทานแก่พระบรมศาสดาปุสสะสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมหมู่ภิกษุสงฆ์ ว่ามีผลส่งให้ตนได้รับผลอันเป็นสุขจึงชวนขุนคลังผู้เป็นสหายพร้อมบริวาร จัดอาหารถวายทานตลอด ๓ เดือน ครั้นถึงกาลกิริยา พระราชบุตรทั้ง ๓ และขุนคลังก็ได้ไปบังเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์เจริญสุขอยู่ในทิพย์วิมาน เหตุเพราะทำทานประพฤติธรรมอันสุจริต

บริวารและหมู่ญาติของขุนคลัง เมื่อขุนคลังมาชักชวนให้รวมทำบุญแทนที่จะเห็นประโยชน์ด้วยจิตที่กอปรด้วยศรัทธามีปัญญา กลับมีแต่ความละโมบ โลภในอาหาร แอบลักขโมยอาหารไปเลี้ยงตนและหมู่ญาติ เรียกว่า ปฏิบัติธรรม ทำทานด้วยอาการทุจริต ผลที่ได้เมื่อตายจึงต้องตกนรก พอพ้นจากขุมนรกนั้นๆ แล้ว จึงต้องมารับเศษกรรมอันหนัก เป็นเปรตมีความอดยากมีชีวิตด้วยความลำบาก ทนทุกข์ยากอยู่เป็นแสนมหากัป จึงพ้นทุกข์ได้ด้วยรับบุญของหมู่ญาติ

พระราชาพิมพิสาร ที่อดีตชาติเกิดเป็นขุนคลัง ได้ร่วมกับพระราชบุตรทั้ง ๓ ของราชาผู้ครองกรุงราชคฤห์ ถวายทานแก่พระปุสสะสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมหมู่สงฆ์ กุศลผลแห่งกรรมดีที่ได้กระทำส่งให้ไปบังเกิดในสวรรค์ จนสิ้นเวลาไปถึ ๕ แสนกัป ทำให้หมู่ญาติที่เป็นเปรตตามหาไม่พบ พอหมดบุญจึงจุติมาเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร พอได้ทำทานหมู่ญาติที่เปรตจึงได้มาร้องขอส่วนบุญ

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า สัตว์โลกเป็นไปตามกรรมจริงๆ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ ให้ดี ชั่ว เลว หยาบ ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว ไม่มีใคร ผู้ใดหนีพ้นจากบ่วงกรรมไปได้เลย สาธุ สาธุ


ที่มา http://www2.tat.or.th/tat_branch/web/branc...2&AmpID=328
http://www.sil5.net
http://damkwan.com/user/12100;sa=showPosts;start=15

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น