....ขอเชิญร่วม.....ปิดทองรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส..... วัดหน้าพระบรมธาตุ ....... ...มีวัตถุมงคล...รุ่นพิเศษ.............................อนุญาตุให้บทความทั้งหมดเป็นสาธารณะ.......

16 พ.ค. 2554

พระวินัยปิฎก เล่ม 1 มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์



เรื่อง เวรัญชพราหมณ์

(1) โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ โคนไม้สะเดา เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ 500 รูป เวรัญชพราหมณ์ได้สดับข่าว ทราบกิติศัพท์สรรเสริญพระผู้มีพระภาคว่า ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ บรรลุวิชชาและจรณ เสด็จไปดี ทราบโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพุทธะ เป็นพระผู้มีพระภาค ทรงนำโลกนี้พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญา อันยิ่งของพระองค์เอง แล้วสอนหมู่สัตว์ พร้อมสมณะพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงานในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้ง พยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ อนึ่งการเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นความดี

เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้า

(2) เวรัญชพราหมณ์ได้ไปในพุทธสำนัก ทูลปราศัยกับพระผู้มีพระภาค ฯลฯ แล้วจึงนั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลถามว่า ข้าพเจ้าได้ทราบว่า พระสมณโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับ พวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาตามลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ในโลกทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ ฯลฯ

ว. ท่านพระโคดม มีปกติไม่ใยดี
พ. จริงเช่นนั้น เพราะความใยดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพผะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดานี้แหละนี้แหละที่เขากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว
ว. พระโคดมไม่มีสมบัติ
พ. จริงเช่นนั้น เพราะสมบัติ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพผะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ฯลฯ
ว. พระโคดมกล่าวการไม่ทำ
พ. จริงเช่นนั้น เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง ฯลฯ
ว. พระโคดมกล่าวการขาดสูญ
พ. จริงเช่นนั้น เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวสูญแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง ฯลฯ
ว. พระโคดมช่างรังเกียจ
พ. จริงเช่นนั้น เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อจำกัดสภาพที่เป็นบาปกุศลหลายอย่าง ฯลฯ
ว. พระโคดมช่างเผาผลาญ
พ. จริงเช่นนั้น เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นธรรมที่ควรเผาผลาญ ซึ่งผู้ใดละได้แล้วตัดรากขาดแล้ว ฯลฯ
ว. พระโคดมไม่ผุดเกิด
พ. จริงเช่นนั้น เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้วตัดรากขาดแล้ว ฯลฯ

ทรงอุปมาด้วยลูกไก่

(3) ดูกร พราหมณ์ เปรียบเหมือนฟองไข่หลายฟอง อันแม่ไก่กกดีแล้ว อบดีแล้ว ฟักดีแล้ว ลูกไก่ตัวใด ทำลายฟองไข่ออกมาได้โดยสวัสดีก่อนเขา ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร จะเรียกว่าพี่หรือน้อง
ว. ท่านพระโคดม ควรเรียกว่าพี่ เพราะมันแก่กว่าเขา

ทรงแสดงฌานสี่และวิชชาสาม

พ. เราก็เหมือนอย่างนั้น เมื่อประชาชนตกอยู่ในอวิชชา เกิดในฟอง ผู้เดียวเท่านั้นในโลก ได้ทำลายฟองคือ อวิชชา แล้วได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม เรานั้นเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดของโลก เพราะความเพียรของเราที่ปรารภแล้ว ไม่ย่อหย่อน สติดำรงมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายสงบ ไม่กระสับกระส่าย จิตตั้งมั่นมีอารมณ์เป็นหนึ่ง

ปฐมฌาน เรานั้นแลสงัดแล้วจากกาม จากอกุศลกรรม ได้บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร ปิติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่

ทุติยฌาน เราได้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ* ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก วิจาร เพราะวิตก วิจาร สงบไป มีปิติและสุข ซึ่งเกิดแต่สมาธิอยู่

ตติฌาน เรามีอุเบกขาอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปิติสิ้นไป ได้บรรลุตติยญาณ ที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติมีสุขอยู่

จตุตถฌาน เราได้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อน ๆ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

บุพเพนิวาสานุสสติญาณ เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่องไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้วได้น้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เรานั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เเป็นอันมาก คือ ระลึกชาติได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง...แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัลปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขอย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพโน้นแล้ว ได้เกิดมาในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอุเทศ พร้อมทั้งอาการ วิชชาที่หนึ่งนี้เราได้บรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดส่งจิตไปแล้ว ฉะนี้ ความชำแรกออกครั้งที่หนึ่งของเรานี้แล ได้เเป็นเหมือนการทำลายออกจากฟองของลูกไก่ ฉะนั้น

จุตูปปาตญาณ เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ดังนั้น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตใจเพื่อญาณเครื่องรู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต ผิวพรรณดี ผิวพรรณทรามได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงกรรมว่า หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ หมู่สัตว์ที่เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือว่าหมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผุ้เข้าถึงตามกรรมด้วยประการฉะนี้ วิชชาสองนี้ เราได้บรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ฯลฯ ความชำแรกออกครั้งที่สองเรานี้ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากฟองของลูกไก่ ฉะนั้น

อาสวักขยญาณ เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ ฯลฯ ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้

ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เหล่านี้อาสวะ นี้เป็นเหตุได้เกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรารู้อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นจาก กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี วิชชาสามนี้ เราได้บรรลุในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ฯลฯ ความชำแรกออกครั้งที่สามของเรานี้ ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากฟองของลูกไก่ ฉะนั้น

เวรัญชพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก

(4) เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้ทูลว่า ท่านพระโคดมเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ไพเราะนัก ทรงประกาศธรรมโดยเอนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ข้าพเจ้าขอถึงท่านพระโคดม พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์ทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้ ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงรับอาราธนาอยู่จำพรรษา ที่เมืองเวรัญชาของข้าพเจ้าเถิด
พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณี ครั้นพราหมณ์ทราบแล้ว ได้ลุกจากที่นั่งกราบบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ หลีกไป

เมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย

(5) สมัยนั้น เมืองเวรัญชามีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหาก็ทำไม่ได้ง่าย ครั้งนั้นพวกพ่อค้าม้าชาวอุตราปถะ ได้เข้าพักแรมตลอดฤดูฝนในเมืองเวรัญชา พวกเขาได้ตกแต่งข้าวแดงสำหรับภิกษุ รูปละแล่งไว้ที่คอกม้า เวลาเช้าภิกษุทั้งหลายถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตรในเมือง เมื่อไม่ได้บิณฑบาตร จึงเที่ยวไปบิณฑบาตรที่คอกม้า รับข้าวแดงรูปละแล่งนำไปสู่อารามแล้วลงครกโขลกฉัน ส่วนพระอานนท์บดข้าวแดงแล่งหนึ่งที่ศิลา แล้วน้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาค พระองค์เสวยพระกระยาหารนั้น และได้สดับเสียงครกอยู่

พระพุทธประเพณี

พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถามก็มี พระตถาคตทั้งหลายย่อมตรัสถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระองค์ย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยอาการสองอย่างคือ จักทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอีกอย่างหนึ่ง ครั้งนั้น พระองค์ตรัสถามพระอานนท์ว่านั่นเสียงครกหรือหนอ พระอานนท์จึงทราบทูลให้ทรงทราบ ฯลฯ

พระมหาโมคคัลลานะเปล่งสีหนาท

(6) ครั้งนั้น พระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบบังคม แล้วนั่งในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผุ้มีพระภาคว่า บัดนี้เมืองเวรัญชามีภิกษาหารน้อย ฯลฯ พื้นเบื้องล่างแห่งแผ่นดินใหญ่นี้ สมบูรณ์ ฯลฯ ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงพลิกแผ่นดินภิกษุทั้งหลายจักได้ฉันง้วนดิน พระผู้มีพระภาค ตรัสถามว่า ดูกร โมคคัลลานะ ก็สัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินเล่าเธอจะทำอย่างไรแก่สัตว์เหล่านั้น ฯลฯ



ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักนิรมิตฝ่ามือข้างหนึ่ง ให้เป็นดุจแผ่นดินใหญ่ ยังสัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินเหล่านั้นให้ไปอยู่ในฝ่ามือนั้น จักพลิกแผ่นดินด้วยมืออีกข้างหนึ่ง
พ. อย่าเลย การพลิกแผ่นดิน เธออย่าพอใจเลย สัตว์ทั้งหลายจักพึงได้รับผลตรงกันข้าม
ม. ขอภิกษุทั้งหมดพึงไปบิณฑบาตรในอุตรกุรุทวีป
พ. ภิกษุผู้ไม่มีฤทธิ์เล่า เธอจะทำอย่างไรกับภิกษุเหล่านั้น
ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักทำให้ภิกษุทั้งหมดไปได้
พ. อย่าเลย การที่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดไปบิณฑบาตรถึงอุตรกุรุทวีป เธออย่าพอใจเลย

เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นานและนาน

(7) ครั้งนั้น พระสารีบุตรไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน ครั้น เวลาเย็นท่านออกจากที่หลีกเร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลความปริวิตกนั้น พระองค์ตรัสตอบว่า พระศาสนาของพระผู้มี พระภาค พระนาม วิปัสสี พระนาม สิขีและพระนาม เวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน ส่วนพระผู้มีพระภาค พระนาม กกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน

ส. อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคทั้งสามดังกล่าวไม่ดำรงอยู่นาน
พ. พระผู้มีพระภาคทั้งสาม ทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิตวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามมีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตาม สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน ฯลฯ

ส. อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระศาสนาของพระผู้มีประภาคทั้งสาม ดำรงอยู่นาน
พ. พระผู้มีพระภาคทั้งสาม มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรม โดยพิศดารแก่สาวกทั้งหลายอนึ่งสุตตะ ฯลฯ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามนั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก จึงดำรงพระศาสนาไว้ได้ตลอดระยะกาลนาน

ปรารภให้ทรงบัญญัติสิกขาบท

(8) ลำดับนั้น พระสารีบุตรลุกจากอาสนะ นำผ้าอุตรสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า ถึงเวลาแล้วที่จะทรงบัญญัติสิกขาบท ที่จะทรงแสดงปาติโมข์แก่สาวกอันจำเป็นเหตุให้พระศาสนานี้ยั่งยืนดำรงอยู่ได้นาน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จงรอก่อน ยับยั้งก่อน ตถาคตผู้เดียวจักรู้กาลในกรณีนั้น พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลาที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนาน ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลาย ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภ ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลาย ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภแล้ว และอาวาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าย่อมปรากฎในหมู่สงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น ก็ภิกษุสงฆ์ไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ ปราศจากมัวหมอง บริสุทธิ์ผุดผ่อง ตั้งอยู่ในสารคุณ เพราะบรรดาภิกษุห้าร้อยรูป ผู้ทรงคุณธรรมอย่างต่ำก็เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง ผู้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า

เสด็จนิเวศน์เวรัญชพราหมณ์

(9) ครั้นปวารณาพรรษาแล้ว พระผู้มีพระภาคเรียกพระอานนท์มารับสั่งว่า พระตถาคตทั้งหลายยังมิได้บอกลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาแล้ว จะไม่หลีกไปสู่ที่จาริกในชนบททั้งนี้เป็นประเพณีของพระตถาคตทั้งหลาย
ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จไปสู่นิเวศน์เวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้วประทับเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย

เวรัญชพราหมณ์กราบบังคมนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระองค์รับสั่งว่า ดูกร พราหมณ์เราขอบอกลาท่าน เราปรารถนาจะหลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท

เวรัญชพราหมณ์ ทูลขอให้พระองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์รับภัตตาหารเพื่อเจริญบุญกุศล และปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้แก่ตัวเขาเอง

พระองค์ทรงรับอัชเฌสนาโดยดุษณียภาพแล้วทรงชี้แจงให้ เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ

เวรัญชพราหมณ์สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวฉันอันประณีตในนิเวศน์ตน ผ่านราตรีนั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลภัตกาลแด่ พระผู้มีพระภาคว่าถึงเวลาแล้ว ท่านพระโคดม ภัตตาหารเสร็จแล้ว

ขณะนั้น เป็นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเสด็จสู่นิเวศน์เวรัญชพราหมณ์ ถึงแล้วประทับนั่งเหนือที่ประทับพร้อมภิกษุสงฆ์ เวรัญชพราหมณ์อังคาสพระภิกษุสงฆ์ อันมีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุขด้วยขาทนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตนจนให้ห้ามภัตรแล้ว ได้ถวายไตรจีวรแด่ พระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จทรงนำพระหัตถ์ ออกจากบาตรแล้วให้ทรงครอง และถวายผ้าคู่ ให้ภิกษุครองรูปละสำรับ จึงพระองค์ทรงชี้แจงให้ เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ ครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่เมือง เวรัญชาตามพระพุทธารมย์แล้ว เสด็จไปยังเมืองท่าปยาคะ ไม่ทรงแวะเมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ เมืองกัณณกุชชะ ข้ามแม่น้ำคงคาที่เมืองท่าปยาคะ เสด็จถึงพาราณสี ครั้นประทับอยู่ที่พาราณสีแล้ว เสด็จจาริกไปนครเวสาลี ประทับที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตเวสาลี


จบเวรัญชกัณฑ์

http://www.heritage.thaigov.net/religion/tripitok/v.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น