....ขอเชิญร่วม.....ปิดทองรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส..... วัดหน้าพระบรมธาตุ ....... ...มีวัตถุมงคล...รุ่นพิเศษ.............................อนุญาตุให้บทความทั้งหมดเป็นสาธารณะ.......

7 พ.ค. 2554

เพลงบอก



อุปกรณ์และวิธีการเล่น

๑. อุปกรณ์

เพลงบอกคณะหนึ่งมีแม่เพลง ๑ คนและลูกคู่อีก ๔ ถึง ๖ คน มีฉิ่งเป็นดนตรีประกอบเพียงอย่างเดียว การร้องเพลงบอกใช้ภาษาถิ่นปักษ์ใต้ โดยร้องด้นเป็นกลอนสดแท้ ๆ ใช้ปฏิภาณร้องไปตามเหตุการณ์ที่พบเห็น แม่เพลงต้องมีความรอบรู้ไหวพริบดี และฝึกฝนจนแม่นยำในเชิงกลอน



๒.วิธีการเล่น

สำหรับวิธีการขับเพลงบอก เมื่อแม่เพลงร้องจบวรรคแรกลูกคู่ก็รับครั้งหนึ่งโดยรับว่า "ว่าเอ้ว่าเห้" พร้อม ๆ กับจะต้องคอยตีฉิ่งให้เข้ากับจังหวะ ถ้าหากแม่เพลงว่าวรรคแรกซ้ำอีก ลูกคู่ก็จะรับว่า "ว่าทอยช้าฉ้าเหอ"และเมื่อแม่เพลงว่าไปจนจบบทแล้ว ลูกคู่จะต้องรับวรรคสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง



โอกาส/เวลาที่เล่น

๑.เพลงบอก นิยมเล่นกันในวันตรุษสงกรานต์ เป็นการบอกกล่าวป่าวร้องให้ชาวบ้านทุกละแวกได้ทราบว่าถึงวันขึ้นปีใหม่แล้ว โดยเฉพาะรายละเอียดการเปลี่ยนปี หรือการประกาศสงกรานต์ประจำปีซึ่งสมัยก่อนไม่ได้มีการพิมพ์ปฏิทินอย่างเช่นในปัจจุบัน

พอถึงปลายเดือนสี่ย่างเดือนห้า ซึ่งเป็นระยะที่ชาวนาส่วนมากเก็บเกี่ยวขึ้นยุ้งขึ้นฉางเสร็จแล้ว เวลาพลบค่ำตามละแวกบ้านจะได้ยินเสียงเพลงบอกแทบจะกล่าวได้ทุกหมู่บ้านของจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกตระเวณตามบ้านใกล้เรือนเคียงโดยมีบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่บ้านนั้น ๆ เป็นคนนำทาง คอยไปปลุกเจ้าของบ้านให้เปิดประตูรับ



เมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตูรับ แม่เพลงก็จะขับกลอนเพลงบอกขึ้นในทันที เนื้อความตอนแรกมักจะเป็นบทไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และกล่าวชมเชยเจ้าของบ้านตามสมควร เจ้าของบ้านจะเชื้อเชิญขึ้นบนเรือน ยกเอาหมากพลู บุหรี่ เหล้ายาปลาปิ้งออกมาเลี้ยง ตอนนี้เพลงบอกจะว่าเพลงเล่นตำนานสงกรานต์ในปีนั้นให้ฟัง ถ้าเจ้าของบ้านพอใจก็จะให้รางวัล

๒.เพลงบอกเล่าเรื่องราวข่าวสารต่าง ๆ เช่น บอกข่าวเชิญไปทำบุญกุศลที่นั่นที่นี่ตามเหตุการณ์ จะเห็นได้ว่าเพลงบอกเกิดขึ้นเพื่อใช้ในการป่าวประกาศเรื่องต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบนั่นเอง เหตุผลก็คือในสมัยโบราณคนที่รู้หนังสืออ่านออกเขียนได้มีน้อยกิจการพิมพ์ก็ไม่แพร่หลาย ข่าวที่ใช้เพลงบอกเป็นสื่อจะได้รับความสนใจจากชาวบ้านมากกว่าการสื่อสารธรรมดา เพราะฟังแล้วเกิดความสนุกด้วย

๓.เพลงบอกประชัน เป็นการโต้เพลงบอกให้ผู้ชมฟัง โดยการจัดเวที เพื่อประชันโต้ตอบ ไม่มีการกำหนดหัวข้อและเวลา แล้วแต่ใครจะหยิบยกเรื่องอะไรมาว่า แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการเปรียบเทียบ และต้องว่าในทำนองข่มกัน หาทางโจมตีและกล่าวแก้ได้ทันควัน การตัดสินแพ้ชนะใช้เสียงผู้ชมเป็นหลัก โดยฟังจากเสียงโห่หรือโต้กันจนอีกฝ่ายหนึ่งยอมแพ้



คุณค่าและแนวคิด

การเล่นเพลงบอกให้คุณค่าดังนี้

๑.เป็นการใช้ภูมิปัญญาเพื่อประชาสัมพันธ์ประกาศบอกข่าวแก่ชาวบ้าน ในสมัยที่การสื่อสารยังไม่เจริญและไม่มีปฏิทินบอกวันเหมือนอย่างในปัจจุบัน ทำให้ชาวบ้านทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสงกรานต์และข่าวต่าง ๆ

๒.น้ำเสียง ถ้อยคำในการว่าเพลงบอก ให้ความครึกครื้นสนุกสนาน ข่าวที่มากับเพลงบอก จึงได้รับความสนใจจากชาวบ้านมากกว่าบอกข่าวธรรมดา ปัจจุบันเพลงบอกจึงนำมาใช้บอกบุญ โฆษณาสินค้าต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง และเชิญชวนให้คนไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง

๓.นักว่ากลอนได้แสดงความสามารถในกลอนปฏิภาณ และศิลปะในการขับกลอน การประชันอวดฝีปากในเชิงกลอน ผู้ว่ากลอนต้องมีความรอบรู้ เฉลียวฉลาด หลักแหลม ไหวพริบดี และแม่นยำในเชิงกลอน นับเป็นวิธีการพัฒนาความรู้ของชาวบ้านได้อีกวิธีการหนึ่ง

http://damkwan.com/user/12100;sa=showPosts;start=30


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น