ประวัติ
ในบรรดาหมอกระดูก พื้นบ้านเมืองนครศรีธรรมราช ชื่อของ พ่อท่านจบ เป็นที่รู้จักกันทั่วไป เพราะเป็นหมอมาเกือบ ๕๐ ปี มีฝีมือในการรักษา มีเมตตาธรรม ต่อผู้ป่วยไม่เลือกหน้า จนยกย่องกันว่าเป็นหมอใจบุญ
พ่อท่านจบ มีชื่อเดิมว่า บรรจบ วิเศษธาร
เกิดเมื่อวันพุธ แรม 1 ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ ๒๔๖๑
ที่บ้านบางจาก ตำบนบางจาก อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช บิดาชื่อ นายชื่น มีอาชีพ เป็นทนายความ มารดาชื่อขวิด มีอาชีพทำนา
พ่อท่านจบได้เรียนหนังสือจบชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนประชาบาล ครั้นอายุ ๒๐ปี คือเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ ๒๔๘๕
ได้อุปสมบท ณ วัดบางจาก (วัดธาราวดี ในปัจจุบัน) โดยมีพระครูกาแก้ว เป็น อุปัชฌาย์
ท่านใฝ่ใจศึกษาทางธรรมจนสอบได้นักธรรมเอก และจำพรรษาอยู่ ณ วัดบางจากตลอดมา
รวมอายุ ๘๘ ปี ๖๘ พรรษา
ดำรงสมณศักดิ์เป็น พระครูธรรมธราธิคุณ เจ้าอาวาสวัดธาราวดีหรือวัดบางจากเดิม
โดยทั่วไปวิชาหมอและวิชาที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมจะนับถือครูหมอ การสืบทอดความรู้มักทำกันในสายตระกูลโดยผ่านพิธีครอบ แต่สำหรับพ่อท่านจบเป็นประเภท หมอผุด คือเป็นหมอขึ้นมาเป็นคนแรกในตระกูล โดยชั้นบรรพบุรุษไม่เคยมีใครเป็น หมอมาก่อนเลย ทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ ตัวเองก็ไม่เคยสนใจมาก่อน เพียงแต่ได้รู้ได้ เห็นบ้างซึ่งไม่แตกต่างจากการรับรู้ของชาวบ้านทั่วไป
พ่อท่านจบเล่าที่มาที่ไปของการเป็นหมอให้ฟังว่า มันเหมือนถูกบังคับ เราบวชมาแล้วตั้งหลายพรรษา วันหนึ่งอาจารย์ขาวจากวัดบางใหญ่ แกเป็นหมอหลายอย่าง รักษาพิษงู หมาบ้ากัด กระดูก แกมาที่วัดบอกว่าให้รักษาโรคพิษงู หมาบ้าและกระดูกด้วย เราตอบว่าผมหาทำได้ไม่ อาจารย์ขาวจึงให้จดวิธีการและแนะนำให้ เราก็ไม่ได้สนใจอะไร ต่อมาบ่าวเนยถูกวัวขวิดกระดูกหักไปหาอาจารย์ขาว แกใช้ให้มาหาเรา เราว่าทำไม่ได้ให้กลับไปหาอาจารย์ขาว แกส่งกลับมาหาเราอีก ก็ต้องทำให้ตามที่อาจารย์แนะ มันก็หาย ทีนี้คนมาเรื่อยก็ทำเรื่อยมา
ฟังพ่อท่านจบเล่าแล้ว เหมือนว่าเป็นหมอกระดูกเป็นเรื่องง่าย แต่จริงๆ แล้วพ่อท่านจบเป็นคนใฝ่รู้เมื่อนับหนึ่งได้แล้วก็ต้องก้าวต่อไป เท่าที่ท่านเล่าให้ฟัง อย่างน้อยท่านก็มีอาจารย์อยู่ ๒ คน สำหรับอาจารย์ขาวนั้นพ่อท่านจบได้เรียนรู้อีกหลายอย่าง บางอย่างทำได้ บางอย่างทำแล้วก็เลิกไป และบางอย่างทำไม่ได้เลย พ่อท่านขาวนั้นเก่ง ถ้ากระดูกหักมากท่านจะทุบให้แหลก จัดกระดูกให้เข้ารูป ใหม่โดยคาถาสับไม้ ลูบพร้า งูกัดท่านรักษาโดยวิธีเอาข้าวเหนียวดำโปะแผล ว่าคาถาเรียกพิษ แล้วพ่นหมาก ทำแล้วกลับบ้านได้ แต่เราทำไม่ได้สมัยแรกๆเราก็ลูบคมพร้าเหมือนกัน แต่เลิกไป
สิ่งสำคัญที่พ่อท่านจบได้จากอาจารย์ขาวคือ การทำน้ำมันสำหรับใช้รักษากระดูกหัก ซึ้งเป็นที่ยอมรับว่ามีสรรพคุณเยี่ยมมาก
อาจารย์อีกท่านหนึ่งคือ อาจารย์ วัดท้าวโคตร อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช พ่อท่านจบได้เรียนคาถาอาคมและวิธีรักษาโรคกระดูกไปส่วนหนึ่ง
จากวิชาที่เรียนจากอาจารย์ทั้งสอง ในการรักษาผู้ป่วยช่วงแรกๆ พ่อท่านจบก็ยึดแบบครู คือ เมื่อผู้ป่วยมาหาต้องมีดอกไม้ธูปเทียน และสตางค์ ๑ บาท มาบูชาครู มีการใช้คาถาและลูบพร้าเช่นเดียวกัน แต่หลังจากรักษาผู้ป่วย มาหลายๆปี ก็แทบจะไม่ได้ใช้คาถาอาคมโดยให้เหตุผลว่า คาถาเป็นเรื่อง ของพลังจิต คนที่ใช้คาถาต้องจิตดี แน่วแน่ สงบ มีสมาธิ ต้องเพ่งจึงจะเกิดพลัง อย่างพ่อท่านคล้าย ( พระครูพิศิษฐอรรถาการ ) ท่านไม่มีอะไร บ้วนน้ำหมากใส่เอาก็หาย แต่เราจิตมันวอกแวก ทำๆ อยู่ จิตไปอยู่ที่อื่นเสียแล้ว พรรค์นี้ไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม พ่อท่านจบมิได้ทิ้งการใช้คาถาอาคมเสียที่เดียว ยังคงใช้ตอนทำน้ำมันว่านสำหรับทาแผล เพื่อเพิ่มพลังของยาให้แข็งขึ้นความเจ็บ ป่วยที่พ่อท่านจบรักษาจะเกี่ยวกับอาการผิดปกติทางกระดูก เช่น กระดูกหัก กระดูกเคลื่อน กระดูกแตก กระดูกร้าว กระดูกซ้น ข้อหลุดและอาการ ขัดยอกปวดเมื่อยต่างๆโดยขั้นตอนในการรักษา ดังนี้
ขั้นที่ ๑ ขั้นวินิจฉัยตรวดดูอาการ ท่านจะใช้วิธีการสังเกต โดยดูการเดิน การแกว่งแขน การจับคลำบริเวณที่บาทเจ็บและถามอาการ ถามสาเหตุแต่บางที่เห็นลักษณะบาดแผลก็รู้ ถ้าเห็นว่าถามแล้วจะทำให้คนเจ็บ อึดอัดก็จะไม่ถาม เช่นเห็นแผลแล้วรู้ว่าถูกปืนก็เฉยไว้
ในขั้นตรวจอาการนี้วิธีจับคลำสำคัญมาก ปกติกระดูกจะเรียบ เมื่อจับคลำบริเวณที่บาทเจ็บแล้วรู้สึกสะดุดมือ ณ จุดใด จุดนั้นคือตำแหน่ง ที่กระดูกหักหรือมีปัญหา แต่บางรายกระดูกหักเห็นชัดเจนบางที่ทิ่มโผล่ออกมานอกผิวหนังก็มี อย่างนี้แทบไม่ต้องวินิจฉัย
ขั้นที่ ๒ ขั้นรักษา จะมีวิธีการแตกต่างกันไปตามอาการ เช่น
กรณีข้อหลุด ต้องค่อยๆ โยกหรือขยับให้กระดูกเข้าที่ แล้ทาน้ำมัน เข่าคลาน ห้ามดึงอย่างเด็ดขาด เพราะเนื้อเยื่อจะฉีก อักเสบต้องให้นอนคว่ำ งอเข่าแล้ว โยกเบาๆ ดันให้ส้นไปจรดสะโพกขณะที่โยกและดันถามไปด้วยว่า รู้สึกว่ากระดูก ทิ่มไหม เจ็บไหม ถ้าไม่ แสดงว่ากระดูกเข้าที่แล้ว ถ้าเป็นบริเวณข้อศอกหรือ ข้อมือก็ทำเช่นเดียวกัน ถ้ากระดูกหักต้องจัดดึงให้เข้าที่หากต้องจับยกผู้ป่วยต้อง ยกทั้งขา ในรายที่แผลมีเลือดดำคั่งอยู่ ต้องรีดเลือดดำออกให้หมดเพื่อกันเปื่อย จากนั้นพันด้วยผ้าพันแผล ทาน้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวผสมสมุนไพร แล้วเข้าเฝือก ไม้ไผ่ให้กระชับ ในการเข้าเฝือกต้องจัดสำคัญที่สุดคือต้องไม่เข้าเฝือกทับข้อพับ เพราะหลังจากหายและแก้เฝือกออกแล้วจะพับงอส่วนข้อพับไม่ได้
ขั้นที่ ๓ ขั้นดูแล กรณีบาดเจ็บธรรมดา การดูและไม่มีอะไรมาก บางคนอยู่ ๒-๓ วัน ก็กลับบ้านได้ แต่พวกที่ต้องเข้าเฝือกจะใช้เวลาราว ๒-๓ เดือน ระหว่างนั้นจะทาน้ำมัน บีบนวดเป็นหลัก ครบกำหนดแล้วจึงเปลี่ยนผ้าพันแผล ทำความสะอาดแผล ถ้าไม่หายต้องทำการรักษาใหม่ ถ้าหายก็เอาเฝือกออกได้
ขั้นที่ ๔ ขั้นบำบัด หลังจากถอดเฝือกแล้ว จะทาน้ำมันอีกรอบ ๑๐ วัน เมื่ออาการเป็นปกติดีแล้วก็ทำพิธีไหว้ครู โดยผู้ป่วยนำอาหารมาถวายพระในการไหว้ครูสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ กล้วยเขียว ๑ หวี แต่ธรรมดาไหว้ครูนี้ ระยะหลังๆ ไม่ได้เคร่งครัดอะไร คงเป็นไปตามตวามสะดวกของผู้ป่วย
จากการที่พ่อท่านจบรักษาผู้ป่วยมานาน ได้พบความจริงว่าการหายเร็ว หรือช้า ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางคนน่าจะหายช้าแต่กลับหายเร็ว อาการ บาดเจ็บแถวหัวเข่าจะหายเร็ว เพราะมีเซลส์สร้างกระดูกมาก แต่บริเวณ ช่วงกลางๆ ของแข้งและขา จะหายช้ากว่า นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยที่อาศัย แถวเขตป่าภูเขา จะหายเร็วกว่าพวกอยู่ริมทะเล เข้าใจน่าจะมีผลมาจากการกินผักมากกว่า
ในการรักษาป่วย พ่อท่านจบถือว่าทั้งหมอและญาติต้องช่วยกัน สิ่งใดที่ญาติ ผู้ป่วยทำได้ก็ ต้องช่วยทำ เช่น ช่วยทำเฝือกไม้ไผ่ ช่วยจัดหาไม้เท้าสำหรับ ค้ำเดิน ช่วยบีบนวดถ้าพอทำได้ ช่วยดูแลความเป็นอยู่ โดยทางวัดมีศาลาผู้ป่วย ให้อยู่อาศัยโดยไม่คิดค่าเช่า ถ้าผู้ป่วยไม่มีญาติ ทางวัดก็ดูแลและให้ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยคนอื่นๆ ช่วยดูแลด้วยซึ้งทุกคนก็เต็มใจและอยู่ร่วมกันเสมือนคนในครอบครัวหรือวงญาติ ข้าวของอย่างที่ทางวัดมีอยู่ก็สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องซื้อ เช่น ไม้เท้าที่ผู้ป่วยคนก่อนๆ ทิ้งไว้หลังจากหายแล้ว ซึ่งส่วนก็ช่วยบรรเทาความ เดือดร้อนของผู้ป่วยได้ส่วนหนึ่ง
สำหรับน้ำมันสมุนไพรที่ใช้ทาแผล ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทางวัดจะต้องเตรียม ไว้ให้พอ ในแต่ละปีพ่อท่านจบจะจัดงานบุญทำน้ำมันสมุนไพร ๑ ครั้ง ซึ่งต้องใช้มะพร้าวจำนวนมาก เมื่อเคี่ยวแล้วได้น้ำมันราว ๑๐ ปี๊บขึ้นไปจึงจะพอใช้การทำน้ำมันต้องใช้กำลังคนเป็นสิบๆคนก็ได้ อาศัยแรงศรัทธาของชาวบ้านในละแวกใกล้ๆวัด มะพร้าวเกือบทั้งหมดได้จากการบริจาค ต้องช่วยกันปอกขูด แล้วผสมสมุนไพร เช่น ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ไพล เฉียงพร้าสีเสียดเทศ เสลดพังพอน ผักเสี้ยนผี ดีเกลือ การบูร ยาดำ เมนทอล พิมเสน เป็นต้น บดตำเคี้ยวเอาแต่น้ำมันทำพิธีปลุกเสกบรรจุขวดไว้ใช้ต่อไป สมุนไพรเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะเก็บหาเอาในวัดและในท้องถิ่น อีกส่วนหนึ่งต้องซื้อ ซึ่งใช้เงินจากที่ผู้ป่วยได้บริจาคไว้หลังจากหายป่วยแล้ว
พ่อท่านจบเล่าว่า ท่านไม่เคยปฏิเสธผู้ป่วยที่มารับการรักษา จะมีอาการรุนแรงแค่ไหนก็ต้องรับ ความเจ็บป่วยที่ถือว่ารุนแรงที่สุด คือไขสันหลัง ถ้าไขสันหลังขาด ร่างกายส่วนล่างจะเสียไป การรักษาจะบอกตรงๆ ว่า หายไม่หายรับรองไม่ได้ ลองรักษาดูไป เพราะหากบอกว่าไม่หายจะทำให้เขา เสียใจมากขึ้น ท่านเล่าอีกว่า ผู้ป่วยที่มาหาส่วนหนึ่งออกมาจากโรงพยาบาล อยู่ในสภาพที่มีปัญหา เช่น บางรายผ่าตัดที่น่องถูกเส้นโลหิตทำให้เลือดที่จะส่ง ไปยังส่วนปลายเท้าติดขัด ทำให้บวมดำและต่อไปจะเน่า ถ้าอาการเป็นอย่างนี้ ก็จะบอกตรงๆว่า ถ้าหายก็บุญของมึง แล้วไม่หายก็กรรมของมึง รายแบบนี้
ท่านว่าต้องดูแลเรื่องจิตใจด้วย ต้องพูดเรื่อยๆ ว่าทำใจให้ดีๆ แล้วรักษาไปๆ เขาจะค่อยปลงตกไปเอง ถ้าจะต้องตัดอวัยวะเขาก็ทำใจได้พ่อท่านจบจึงไม่เคย บอกให้ผู้ป่วยไปตัดขามาทันทีที่มาหา เพราะเห็นว่า ถ้ามันยังปลงไม่ตก บอกให้ ไปตัด มันอาจช็อกตายได้ และไม่มีกำลังใจจะสู้ชีวิตแต่ถ้ามันปลงได้แล้วจะไม่มี ปัญหาอะไร เหล่านี้คือการใช้ธรรมะเข้ามาช่วยให้คนเห็นความเป็นอนิจจังของ ชีวิต เข้าใจเรื่องของกรรม และใช้หลักจิตวิทยาที่ให้ผู้ป่วยค่อยๆ ยอมรับสภาพ ของตนเอง พ่อท่านจบคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ป่วยและให้ความสำคัญกับเรื่องจิตใจมาก ท่านกล่าวว่า คนเราถ้าใจวอกแวก มันเอาดีไม่ได้ แต่ถ้าใจดีมีผลดีแน่นอน อย่างมีนางพยาบาลมาขอให้รักษาเขาเคยไปโรงพยาบาลมาแล้ว จึงไม่ถามว่าทำไมไม่อยู่โรงพยาบาลต่อ ถ้าถามเขาจะเสียใจ ท่านว่า เขามาหาก็ ช่วยเขา จะย้ำถามเขาทำไม่ ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการปวดหรืออักเสบ ท่านจะให้เจ้าหน้าที่อนามัยช่วยฉีดยาแก้อักเสบและให้ยาแก้ปวด ท่านกล่าวว่า ต้องช่วยกันหลายๆทาง บางเรื่องหมอแผลปัจจุบันเขาดีก็ต้องพึ่งเขาแต่ความเจ็บป่วยเกี่ยวกับกระดูกหมอพื้น บ้านก็รักษาได้ดี เรื่องเน่าตัดทิ้งไม่มี ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้ป่วยหลายรายที่รักษาอยู่ในวัดธาราวดีบอกตรงกันว่า มาหาพ่อท่านจบดี ไม่ต้องกลัวตัดขา ไม่ต้องผ่าใส่เหล็กและผ่าเอาเหล็กออก หายแล้วก็หายเลย หรือ แต่ละวัน คนไม่รู้มาแต่ไหนต่อไหน เขาไม่ไปโรงพยาบาล กลัวถูกตัดขา การรักษาผู้ป่วยของพ่อท่านจบได้ช่วยปลดทุกข์ให้แก่ชวาบ้านไม่เฉพาะ การหายจากความเจ็บป่วย แต่ช่วยบรรเทาทุกข์ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาเพราะพ่อท่านจบไม่เคยเรียกค่ารักษา ใครจะให้เท่าไรหรือไม่ให้ท่านก็ไม่เคย สนใจ เคยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแนะนำ น่าจะจดชื่อไว้ จะได้ไว้บอกฎีกาเวลาวัดมีงานแต่ท่านก็ปฏิเสธ โดยกล่าวว่า คนมารักษาเราไม่เคยจดชื่อ ไม่จะ จดไว้ทำอะไร คนรวยคงไม่มา เรามารักษาคนจน คนจนถ้าไปวางฎีกา ถ้ามันไม่มาก็เป็นหนี้เป็นสินทางใจ ใจมันไม่สบาย ถ้ามันอยู่ไกล กู้เขามา ๔๐๐ ๕๐๐ บาท ไหนค่ารถ ค่ากิน มาวัดทำบุญ ๕๐ บาท ๑๐๐บาท ก็แค่นั้น เมื่อยืมเขามาเมื่อไหร่จะคืน มันนอนไม่หลับ ก็ทำงานวันหนึ่งได้กี่สตางค์ ไหนจะเลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย อย่าไปเอาขิงเลย ใครจะทำบุญหรือไม่เป็นหน้าที่ ของเขา เรื่องเรียกร้องไม่มี ถือว่าทำเป็นบุญกุศล เป็นสาธารณประโยชน์ เขามาพึ่ง เรารักษาได้ก็ทำ
ในทางตรงกันข้าม มีผู้ป่วยบางส่วนที่พ่อท่านจบต้องช่วยเหลือเงินทอง เสียอีก ดังที่มีชาวบ้านเล่าว่า บางคนมารักษา พอหายแล้วจะกลับบ้านมันไม่มีเงิน ท่านก็ต้องให้มันอีก ท่านว่าให้เงินมันจะได้กลับไปทำงานดีกว่าอยู่วัด และพูดติดตลกว่า หากอยู่วัดต่อก็ต้องบิณฑบาตเลี้ยงมันอีก จากการที่พ่อท่านจบไม่ได้เรียกค่ารักษาและให้ความเมตตานี่เอง น่าจะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นหนี้ทางใจแก่ผู้ป่วย และต้องตอบแทนคุณเมื่อมี โอกาส ดังนั้นในช่วงเดือน ๙ ของทุกปีที่ทางวัดธาราวดี จัดงานบุญจึงมีผู้คนโดยเฉพาะผู้ที่เคยมารับการรักษาจะมาร่วมงานจำนวนมาก และในโอกาสนี้เองที่มีผู้บริจาคทำบุญ ได้เป็นทุนสำหรับดำเนินกิจการต่างๆ ของวัดและได้ช่วย เหลือผู้ป่วย
พ่อท่านจบเริ่มรักษาผู้ป่วยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๙ กว่า ๕๐ ปีที่เป็นหมอ ยังคงปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย คือให้การรักษาโดยไม่คิดค่ารักษา ให้ ความเมตตาแก่ผู้ป่วยในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดย เสมอหน้า แต่ละเดือนมีผู้ป่วยจากที่ต่างๆ ทั้งในจังหวัดนครศรีธรรมราชและ ต่างจังหวัด มารับการรักษาประมาณ ๑๐๐ คน รวมตลอดระยะเวลาที่เป็นหมอ มีผู้ป่วยที่ท่านได้ให้การช่วยเหลือไปแล้วกว่า ๕๐,๐๐๐ คน จึงกล่าวได้ว่า ท่านเป็นหมอที่มีประสบการณ์สูง จนหลับตาเห็นว่าอาการอย่างไรจะรักษาแบบไหน มีมือที่มีความไวต่อการรับรู้อาการผิดปกติของกระดูกของผู้ป่วยที่ดู เหนือกว่าเครื่องมือเอกซเรย์ อย่างไรก็ตามแม้ท่านจะมีความรู้ ความสามารถยอดเยี่ยม และปารถนาจะหาผู้สืบทอดโดยไม่ห่วงวิชา แต่ก็มีผู้สืบทอดวิชา จากท่านน้อยมาก ท่านกล่าวว่า วิชานี้ต้องทำด้วยเมตตา อาจารย์มีข้อห้าม คือห้ามเอาค่าราด (ค่ารักษา) พอเป็นแล้วเหนื่อย ผู้ป่วยมาหาไม่จำกัดเวลา บางทีดึกๆ ดื่นๆ ต้องอดหลับอดนอน จึงไม่ค่อยมีใครอยากเรียน แต่ขณะนี้ ก็มีศิษย์ที่สามารถรักษาเข้าเฝือกผู้ป่วยที่ท่านว่างใจได้บ้าง ซึ่งบางคนก็ช่วย เหลือท่านอยู่ในปัจจุบัน
พ่อท่านจบ นับเป็นหมอกระดูกที่ทรงความรู้ความสามารถและคุณธรรม การปฏิบัติภารกิจด้วยความเสียสละ อดทน ด้วยเมตตาธรรมไม่เลือกเพศ วัย อาชีพ และศาสนา มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ประกอบกับเป็นพระที่มีความสมถะ ไม่หวังลาภ ยศสรรเสริญใดๆ จึงใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ใครทุกข์ก็ เข้าถึงได้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นหมอใจบุญ และด้วยความรู้และคุณธรรมดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงประกาศยกย่องเชิดชู เกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาการพัฒนาคุณภาพชีวิตนับเป็นเกียรติประวัติแก่ชีวิตของท่านและเป็นความภาคภูใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยป่วยและได้รับความดูแลจากท่านมาแล้ว
ด้วยวัยชราภาพทำให้พ่อท่านจบต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายครั้ง และครั้งสุดท้ายเมื่อ วันที่
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙ พระฐาบปกรณ์ สุโข รองเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิด ได้นำพ่อท่านจบเข้ารับการรักษาตัว และตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ. นครศรีธรรมราช ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ส่งตัวรักษาต่อยังโรงพยาบาลกรุงเทพ(หาดใหญ่) เนื่องจากพ่อท่านมีแพทย์ประจำตัวอยู่ จนกระทั่งเวลา ๑๐.๕๐ น. ของวันพุธ ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙ พ่อท่านจบได้มรณภาพด้วยอาการสงบ ซึ่งสร้างความเสียใจต่อผู้ใกล้ชิดด้วยความคาดไม่ถึง นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ต่อ ปูชนียบุคล ภูมิปัญญาหมอกระดูกผู้ใจบุญ ของศิษยานุศิษย์พุทธบริษัทวัดธาราวดี ผู้ที่พ่อท่านจบเยียวยารักษากระดูกมาแล้วตลอดจนคณะสงฆ์ ในฐานะที่ท่านเป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบไม่โลภหลงในกิเลสทั้งปวง ด้วยสิริอายุ ๘๘ ปี ๖๗ พรรษา
การศึกษา
จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ต่อมาบรรพชาและอุปสมบท ณ วัดธาราวดี (วัดบางจาก)ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้ศึกษาทางธรรมจนได้นักธรรมเอก เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี สนใจภูมิปัญญาชาวบ้าน การต่อกระดูกโบราณ จึงศึกษาด้วยตนเอง แล้วเริ่มทดลองรักษา ผลปรากฏว่าได้ผลดี
สมณศักดิ์
พ่อท่านจบได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูธรรมธราธิคุณ เจ้าอาวาสวัดธาราวดี เป็นเจ้าคณะตำบลบางจาก อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช
ผลงาน
พ่อท่านจบได้ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านดูแลรักษาพยาบาลแก่บุคคลต่าง ๆ มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐ รับรักษาผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการผิดปกติของกระดูก เช่น กระดูกเคลื่อน กระดูกแตก กระดูกร้าว ฯลฯ สามารถช่วยผู้ป่วยโรคกระดูกให้หายไม่น้อยกว่าแปดหมื่นคน ทำการรักษาเพื่อการกุศล ไม่คิดเงินแต่อย่างใด ผลการรักษาทำให้ชาวบ้านหายเป็นปกติ จึงบอกและแนะนำผู้อื่นต่อทั้งในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยจะพักอาศัยอยู่ในวัด ดังนั้น พ่อท่านจบจึงสร้างเรือนพักผู้ป่วย ๒ หลัง เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ทั่วถึง ผู้ป่วยสามารถพักรักษาได้จำนวน ๒๐-๓๐ คน
วิธีการรักษา
การรักษาโดยใช้ภูมิปัญญาหมอชาวบ้าน รักษาผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติของกระดูก เช่น กระดูกหักทุกชนิด กระดูกเคลื่อน กระดูกแตก กระดูกร้าว กระดูกซ้น การจับเส้นคลายเส้น การขัดยอกปวดเมื่อยต่าง ๆ
ขั้นตอนในการรักษา
ขั้นที่ ๑ ตรวจดูอาการ
โดยใช้วิธีการจับบริเวณที่บาดเจ็บ เพื่อดูว่ากระดูกหักชนิดไหน
ขั้นที่ ๒ ชั้นรักษา
เมื่อทราบว่ากระดูกหักชนิดใดแล้ว พ่อท่านจบจะจับดึงอย่างแรง เพื่อให้กระดูกเข้าที่ตรง แล้วพันแผลด้วยผ้าพันแผลและเข้าเฝือก เฝือกที่ใช้ให้ใช้ไม้แข็งส่วนใหญ่เป็นไม้ไผ่เหลาเรียบร้อย แล้วจึงชะโลมน้ำมันได้ไม่ต้องบีบ
ผู้ป่วยที่มารับการรักษาพยาบาล จะต้องเตรียมอุปกรณ์ในการรักษามาเอง ได้แก่ ผ้าพันแผล ไม้สำหรับทำเฝือก
การทำน้ำมันโดยใช้สมุนไพร ได้แก่ ขมิ้นชัน ขมิ้นไพร เฉียงพร้า ผักเสี้ยนผี ดีเกลือการบูร ยาดำ เมนทอล พิมเสน มะพร้าว นำมาบดตำ เคียวเอาแต่น้ำมัน แล้วทำพิธีปลุกเสกด้วยคาถา ก่อนนำมาใช้ทา
ขั้นที่๓ ขั้นดูแล
โดยเข้าเฝือกไว้ ๖๐ วัน จึงเปลี่ยนผ้าพันแผล ทำความสะอาดแผล ถ้าไม่หาย ก็จะทำการรักษาใหม่ ถ้าหายดีแล้วก็เอาเฝือกออกได้
ขั้นที่๔ ขั้นบำบัด
หลังจากถอดเฝือกแล้ว ผู้ป่วยจะต้องให้พ่อท่านจบ ทาน้ำมันอีกประมาณ ๑๐ วัน อาการจึงหายเป็นปกติ หลังจากหายดีแล้วจึงไหว้ครู โดยการนำอาหารมาถวายพระและถวายปัจจัยที่วัด ซึ่งผู้ป่วยจะปฏิบัติแบบนี้กันทุกคน
พ่อท่านจบสามารถทำประโยชน์ให้สังคมมาก ในด้านสุขภาพ คือ
๑.สามารถช่วยผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกให้หายได้แล้วไม่น้อยกว่าแปดหมื่นคน
๒.สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประชาชน โดยผู้ที่เข้ารับการรักษาพยาบาล จะรักษาให้ฟรีโดยไม่คิดเงิน เพื่อเป็นวิทยาทานและการกุศล และยังอนุญาตให้ใช้กุฏิหลังหนึ่ง(หอฉัน)ยกให้เป็นที่พักอาศัยของผู้ป่วยและญาติ ๆ ที่มาเฝ้า โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าที่พัก และสร้างเรือนพักผู้ป่วย ๒ หลัง ให้ผู้ป่วยได้มาพักรักษาอย่างทั่วถึง
การรักษาพิษงูด้วยสมุนไพร พระครูวุฑฒิธรรมสาร (สมปอง ธมมสาโร)
ประวัติ
พระครูวุฑฒิธรรมสาร ชื่อเดิม สมปอง จันทรประสูตร เป็นบุตรของนายเติม นางส้มจีน จันทรประสูตร เกิดที่บ้านพรหมโลก หมู่ที่ ๙ ตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๖๗ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๕
อุปสมบทเมื่อ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๙๐ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ศึกษาพระธรรมวินัย สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท จำพรรษาอยู่ที่วัดพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี
สมณศักดิ์ ท่านสมปอง ได้รับสมณศักดิ์ตามลำดับดังนี้
พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นพระใบฎีกา
พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นพระปลัด
พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี เจ้าอาวาสวัดพรหมโลก และเป็นเจ้าคณะตำบลพรหมโลก
พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทและเจ้าคณะอำเภอพรหมคีรี
พ.ศ.๒๕๓๑ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก และเจ้าคณะอำเภอพรหมคีรี
มรณภาพ เมื่อ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖ อายุได้ ๖๘ ปี ๔๔ พรรษา
พระครูวุฑฒิธรรมสาร ได้สร้างผลงานไว้หลายอย่างดังนั้
๑.สามารถเทศน์มหาชาติได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง
เคยเทศน์มหาชาติหน้าพระที่นั่ง และที่ท้องสนามหลวงกรุงเทพมหานคร ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาประจำปี พ.ศ.๒๕๓๕
๒.งานสาธารณประโยชน์
ดังเช่น การบริจาคที่ดิน สร้างที่ว่าการอำเภอพรหมคีรี สถานีตำรวจอำเภอพรหมคีรี โรงเรียนวัดพรหมคีรี โรงพยาบาลพรหมคีรี และเป็นผู้สร้างวัดวิทยาลัยครูรังสรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
๓.การรักษาพิษงูด้วยสมุนไพร
พระครูวุฑฒิธรรมสาร มีความสามารถใช้ยาสมุนไพร รักษาผู้ถูกงูพิษกัดให้หายโดยเริ่มใช้ยาสมุนไพรรักษามาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๒ จนกระทั่งท่านมรณภาพ โดยไม่รับค่าตอบแทนใด ๆ ผลการรักษาพยาบาลของท่านเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน จนกระทั่งสถิติผู้ป่วยด้วยถูกงูกัดที่โรงพยาบาลพรหมคีรี ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดพรหมโลกไม่ปรากฏอยู่เลย
วิธีการรักษา
ขั้นตอนในการรักษา
ขั้นที่ ๑ การดูผู้ป่วยว่าถูกงูพิษชนิดใดกัด โดยดูจากรอยเขี้ยว และสังเกตอาการของผู้ป่วย
๑.๑ งูพิษที่ทำลายระบบประสาท
ผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากถูกกัดประมาณ ๑๐ นาที โดยมีลักษณะ หนังตาตก ขากรรไกรแข็ง พูดไม่ชัด กลืนน้ำลายไม่ได้ อ่อนเพลีย แน่นหน้าอก หายใจขัดจนหายใจไม่ออกในที่สุด ซึ่งพิษเหล่านี้เกิดจากงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงขวา งูกล่อมนางนอน
๑.๒ งูพิษที่ทำลายระบบกล้ามเนื้อ
ผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังถูกกัด ๑ ชั่วโมงขึ้นไป โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดมาก เมื่อยมากบริเวณกล้ามเนื้อที่ถูกกัด บางรายเป็นอัมพาต ซึ่งพิษเหล่านี้เกิดจากงูทะเลชนิดต่าง ๆ
๑.๓ งูพิษที่ทำลายระบบโลหิต
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมาก บริเวณที่ถูกกัด มีเลือดซึมใต้ผิวหนังซ้ำเป็นรอยเล็กใหญ่ มีเลือดซึมตามรอยเขี้ยวที่ถูกกัด เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะอุจจาระเป็นเลือด อาเจียรเป็นเลือด แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก พูดไม่ชัด ขากรรไกรแข็ง ตายช้า ซึ่งพิษเหล่านี้เกิดจากงูกะปะ งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้
ชั้นที่ ๒ รักษาผู้ป่วยตามชนิดของงู
๑.งูกะปะ
ยาขนานที่ ๑
ตัวยา น้ำมะนาว อินทนินดอกขาว หมอคุณ รากปด ลุ่ย
วิธีการรักษา ตัวยาฝนรวมกัน ผสมน้ำมะนาว ใช้สำสีชุบน้ำปิดปากแผล ถ้าอาการไม่ทุเลาใช้ตัวยาที่ ๒
ยาขนานที่ ๒
ตัวยา รากปีกแมงวัน รากเมค รากหญ้าฝอย
วิธีการรักษา ตัวยาผสมเหล้าขาว เอาน้ำทาที่แผล ถ้าไม่ทุเลาใช้ตัวยาที่ ๓
ยาขนานที่ ๓
ตัวยา ฟ้าทลายโจร ใบบัวบก เสลดพังพอน ใบผักหวาน
วิธีการรักษา ตำตัวยาผสมเหล้าขาวทาที่แผล ถ้าไม่หายใช้ตัวยาที่ ๔
ยาขนานที่ ๔
ตัวยา ใบเหม้า
วิธีการรักษา ตำผสมน้ำมะนาว ใช้พอกแผล ถ้าอาการไม่ทุเลา ใช้ยาขนานที่ ๕
ยาขนานที่ ๕
ตัวยา ใช้ตัวยาขนานที่ ๑
วิธีการรักษา ตำรวมกัน ผสมน้ำปูนใส ใช้ทาบริเวณแผล ถ้าไม่หายให้ใช้ยาขนานที่ ๖
ยาขนานที่ ๖
ตัวยา เสลดพังพอน ธนูแดง รางจืด บัวบก ฟ้าทลายโจรตำผสมเหล้าขาว ใช้พอกหรือทา ถ้าไม่หายใช้ตัวยาขนานที่ ๗
ยาขนานที่ ๗
ตัวยา ตัวยาขนานที่ ๒
วิธีการรักษา ตำรวมกัน ผสมสารส้ม ใช้ทา
๒.งูเห่า
ยาขนานที่ ๑
ตัวยา รากลำโพง อินทนินดอกขาว หมวดคุณ ไม้ฆ้อนตีหมา
วิธีการรักษา ฝนกับน้ำปูนใส ใช้ทาที่แผล ถ้าอาการไม่ทุเลา ใช้ตัวยาขนานที่ ๒
ยาขนานที่ ๒
ตัวยา ฟ้าทลายโจร เสลดพังพอน ใบผักหวาน
วิธีการรักษา ตำให้ละเอียด ผสมเหล้าขาว ใช้ทาบริเวณถูกกัด (ห้ามพอกยา)
๓.งูจงอาง
ยาขนานที่ ๑
ตัวยา รากเตย ลุ่ย
วิธีการรักษา ตำให้ละเอียด ผสมน้ำปูนใส ทาบริเวณถูกกัด
๔. งูเขียวหางไหม้
ยาขนานที่ ๑
ตัวยา รากแซ้ง อินทนินดอกขาว หมวดคุณ
วิธีการรักษา ฝนผสมน้ำปูนใส ทาแผล ถ้าไม่ทุเลาใช้ขนานที่ ๒
ยาขนานที่ ๒
ตัวยา เปลือกต้นลั่นทม ตัวยาขนานที่ ๑
วิธีการรักษา ฝนเปลือกต้นลั่นทมกับตัวยาขนาดที่ ๑ ทาปากแผล
๕.งูกะปะค่าง
ยาขนานที่ ๑
ตัวยา เม็ดมะม่วง ลุ่ย
วิธีการรักษา ฝนเม็ดมะม่วงกับรุ่ย ผสมน้ำปูนขาวใช้ทาที่แผล ถ้าไม่ทุเลา ใช้ตัวยาขนานที่ ๒
ยาขนานที่ ๒
ตัวยา น้ำมะนาว อินทนินขาว หมวดคุณ รากปด ลุ่ย
วิธีการรักษา ตำผสมน้ำมะนาว ใช้พอกแผล ถ้าบวมทั้งตัว ใช้ยาทาทั้งตัว
ชั้นที่ ๓ รักษาอาการผู้ป่วยหลังถูกงูพิษกัด รักษาอาการดังนี้
๑.บวมบริเวณถูกกัด
ยาขนานที่ ๑
ตัวยา ใบลิเพา หมาก พลู ปูน
วิธีการรักษา เคี้ยวตัวยา พ่นบริเวณแผล ถ้าไม่ทุเลาใช้ขนานที่ ๒
ยาขนานที่ ๒
ตัวยา จอกหูหมู ใบยาเส้น
วิธีการรักษา ตำพอก ถ้าอาการไม่ทุเลาใช้ขนานที่ ๓
ยาขนานที่ ๓
ตัวยา จอกหูหมู หญ้าเพ็งพวย ใบลำโพง ดินเหนียว ดินประสิว ว่านหางจระเข้
วิธีการรักษา ตำรวมกัน พอกบริเวณที่บวม
๒.เลือดออกตามไรฟัน
ยาขนานที่ ๑
ตัวยา กล้วยตานีทั้งต้น (ส่วนประกอบ
วิธีการรักษา ตำคั้นเอาน้ำ ผสมสารส้ม ใช้อม
๓.เลือดที่แผลออกไม่หยุด
ยาขนานที่ ๑
ตัวยา หญ้าพรานงูแดง รางจืด
วิธีการรักษา ตำผสมน้ำซาวร้าว ใช้พอกแผล
๔.ปัสสาวะไม่ออก
ยาขนานที่ ๑
ตัวยา ต้นกล้วยน้ำว้า
วิธีการรักษา ตำผสมสารส้ม ใช้พอกบริเวณท้องน้อย
๕.แผลเปื่อย
ยาขนานที่ ๑
ตัวยา อุตพิษทั้ง ๕ คือใบ ต้น ราก ดอก ก้าน หมากพลู ปูน ใบยาเส้น
วิธีการรักษา ตำผสม ใช้พอกปากแผล
ยาขนานที่ ๒
ตัวยา อินทนินดอกขาว หมวดคุณรากปด ลุ่ย
วิธีการรักษา ฝนยาผสมน้ำปูนใส แช่แผล
๖.แผลมีหนอง
ยาขนานที่ ๑
ตัวยา อุตพิษ หมาก พลู ปูน
วิธีการรักษา ตำผสมตัวยา พอกบริเวณปากแผล
๗.มีนศีรษะ
ยาขนานที่ ๑
ตัวยา ว่านขมิ้นขม
วิธีการรักษา ใช้กิน
ชั้นที่ ๔ ใช้ยารักษาหลายประเภทดังนี้
๑) กินยาชนิดผง
๒) กินยาต้ม
๓) ใช้ยาใส่แผล
๔) ใช้น้ำมันสมุนไพรทาแผล
๕) ใช้ยาแช่แผล
ประโยชน์
๑.การตั้งสถานรักษาพิษงู วัดพรหมโลก ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ถูกงูพิษหรือสัตว์มีพิษอื่นกัดได้จำนวนมาก
๒.สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีฐานะยากจนได้ไม่ต้องเดินทางไปรักษาพิษงูที่โรงพยาบาล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายแพง
๓.เป็นการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการรักษาพยาบาล
ยารักษาโรคกระษัย ตำรับหมอถั้น ชูโชติ
หมอถั้น ชูโชติ ชาวบ้านม่วง อำเภอพรหมคีรี เป็นหมอสมุนไพรที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากคุณตา คือ หมอใหญ่ ได้ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญจนสามารถรักษาคนป่วยให้หายได้จำนวนมาก
วิธีการรักษา หมอถั้นได้ดำเนินการดังนี้
การเตรียมสมุนไพรสำหรับปรุงยา
สมุนไพรที่ใช้ในการรักษาบางชนิดที่หายากจะหาซื้อจากร้านขายสมุนไพร และบางส่วนหาเองตามพื้นบ้าน โดยหาตามทุ่งนา ป่าเขา ชายทะเล ก่อนทำการรักษาจะต้องจัดหาสมุนไพรและปรุงยารักษาก่อน
๑)การเตรียมสมุนไพรที่ทำยาต้ม โดยนำสมุนไพรแต่ละชนิดล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้น ๆ ผึ่งแดดจนแห้งสนิท แล้วนำตัวยามาชั่งแล้วใช้กระดาษห่อ นำไปเก็บไว้ในห้องเก็บสมุนไพร
๒)การเตรียมสมุนไพรที่ใช้ทำยาผงและยาลูกกลอน โดยนำสมุนไพรล้างทำความสะอาด หั่นเป็นชิ้น ๆ ผึ่งแดดให้แห้งสนิท นำไปคั่วจนเกรียม แล้วบดให้ละเอียด นำตัวยาที่บดแล้วมาชั่งตามตำรับยาแต่ละขนาน ได้ยาผงยาเก็บใส่ถุงไว้ ส่วนยาลูกกลอนซึ่งเก็บใส่ถุงแยกต่างหาก เก็บไว้ในห้องเก็บสมุนไพร
วิธีการรักษา
หมอถั้นจะสอบถามอาการผู้ป่วยอย่างละเอียด แล้วจึงวินิจฉัยโรคเพื่อจะได้จัดยาให้ตรงกับโรค นำตำหรับยาที่ปรุงเก็บไว้ มอบให้ผู้ป่วยนำไปต้มกับน้ำกินที่บ้าน โดยการต้มน้ำ ๓ ส่วน เอา ๑ ส่วน รับประทานตามหมอสั่ง
การรักษาด้วยสมุนไพรจะต้องต้มกินหลายหม้อติดต่อกันจนหายปกติ ส่วนการใช้ยาผงหรือยาลูกกลอน จะนำยาที่บดไว้แล้วในห้องสมุนไพรมามอบให้ผู้ป่วย ยาผงใช้ละลายน้ำดอกไม้แล้วดื่มยา ส่วนยาลูกกลอนจะมอบยาผงแก่ผู้ป่วย ให้นำไปผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน รับประทานตามที่หมอสั่ง
องค์ความรู้
โรคกระษัย เกิดกับผู้ใหญ่อายุ ๔๐ ปีขึ้นไป ประมาณอายุ ๕๐ ปี จะเป็นโรคมาก เนื่องจากคนสูงอายุมีความต้านทานโรคน้อย ร่างกายและอวัยวะส่วนต่าง ๆ เสื่อมโทรม
อาการของโรค โรคกระษัยจะมีอาการดังต่อไปนี้ ปวดตามข้อ ถ่ายไม่ปกติ ท้องผูก ถ่ายกระปริบกระปรอย กินข้าวไม่ได้ทำให้เกิดโรคกระเพาะได้ เมื่อยล้าง่าย เป็นมากจะเกิดอาการเวียนศีรษะ และเรอเหม็นเปรี้ยว
สาเหตุของโรค เกิดจากการทำงานหนักเกินไป ถ้าอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเสียการทำงานไปจะส่งผลกระทบถึงอวัยวะส่วนอื่นด้วยเพราะอวัยวะทุกส่วนจะยึดถึงกันหมด อาการจะเริ่มจากโรคกระเพาะอาหาร กินก็แน่นท้อง กินน้อยแต่อิ่มมาก กินมากก็แน่น นอกจากนั้นยังเกิดจากลำไส้ทำงานไม่สะดวก ทำให้ถ่ายไม่ออก การรักษา หมอจะให้กินยาต้มเพื่อให้ถ่ายท้อง และยาบำรุงเพื่อตั้งธาตุใหม่
ตำรับยากระษัยของหมอถั้น ชูโชติมีหลายตำรับ แต่จะขอยกตัวอย่างตำรับยากระษัยที่มีผู้ป่วยมารักษามาก คือ กระษัยอันฑพฤกษ์ และยาแก้ลมคลายเส้น
๑.ยากระษัยเส้นอันฑพฤกษ์
ส่วนประกอบ โกษฐ์สอ โกษฐ์พุงปลา โกษฐ์จุฬาลำพา สิ่งละ ๙ กรัม หัวงอ มหาหิงค์ ขิงแห้ง พริกไทย เจตมูลเพลิง ดีปลี กานพลู ลูกจันทร์ ดอกจันทร์ ลูกกระวาน แห้วหมู ลูกกระดอม บอระเพด หัวกระทือ สิ่งละ ๑๕ กรัม ใบสะเดา ๒๓ กรัม หัศคุณเฑศ ขมิ้นอ้อย การบูณ รากคนทีสอ ยาดำ สิ่งละ ๑๕ กรัม
วิธีใช้ บด ตำผง
สรรพคุณ เป็นยาแก้กระษัยอันฑพฤกษ์ แก้เส้นอันฑพฤกษ์พิการ ละลายน้ำขิงต้ม น้ำผึ้ง น้ำส้มแป้น กรูด มะงั่ว ส้มเส้า แก้ฝีในท้อง แก้ลมอัมพาต ละลายน้ำขิงแห้ง ข่าใหญ่ต้ม
๒.ยาแก้ลมคลายเส้น
ส่วนประกอบ ขิงแห้ง พริกไทย เทียนดำ ลูกกระวาน ใบกระวาน เกษรบัวหลวงแดง เกษรบัวหลวงขาว พญามือเหล็ก ลูกสะค้าน ว่านน้ำ โกษฐ์พุงปลา หญ้าเท้านก ใบมะคำไก่ เถาว์วัลย์เปรียง ใบจวง แห้วหมู ชะพลู หัวข่า ขมิ้นอ้อย
วิธีใช้ ต้มรับประทานวันละ ๓ ครั้ง ก่อนอาหาร
สรรพคุณ เป็นยาแก้กระษัยเส้น แก้เส้นพิการ หรืออัมพาต
คุณค่า/ประโยชน์
การรักษาโรคด้วยภูมิปัญญาด้านสมุนไพรของนายถั้น ชูโชติ เป็นการนำภูมิปัญญาไทยและทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการบำรุงผู้ป่วย ทำให้คนไข้ที่อยู่ในชนบทห่างไกล ได้รับการรักษาพยาบาลจนหาย นับเป็นการช่วยเหลือแพทย์แผนปัจจุบันรักษาโรคได้จำนวนมากอีกทางหนึ่ง
http://www.109wat.com/bk01.php?id=763
http://damkwan.com/user/12100;sa=showPosts;start=30
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น