............อนุญาตุให้บทความทั้งหมดเป็นสาธารณะ.......
7 พ.ค. 2554
เปรต : เปรตงูเหลือม
กาลเมื่อพระบรมสุคตเจ้า ทรงประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภถึงเปรตงูเหลือมให้เป็นเหตุ แล้วทรงตรัสเล่าที่มาแห่งเปรตนั้น ให้แก่ภิกษุและมหาชนทั้งหลายได้สดับความว่า
สมัยเมื่อพระมหาโมคคัลลานเถระเจ้า ออกจากที่พักพร้อมพระลักขณเถระ ในเวลาเช้าเพื่อเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ระหว่างทางพระมหาโมคคัลลานเถระเจ้า ได้แลด้วยทิพจักษุเห็นเปรตมีกายเป็นงูเหลือมยาว ๒๕ โยชน์ มีหัวเป็นมนุษย์ผมยาวปรากฏไฟลุกไหม้จากหัวจนถึงหาง จากหางลุกไหม้ขึ้นไปจนถึงหัว บางขณะก็ลุกไหม้หัวและหางมาจดกลางลำตัว จากกลางลำตัวไปถึงหัวและหาง สลับสับเปลี่ยนกันอยู่เช่นนี้ อัตภาพของเปรตนั้นได้รับทุกข์เวทนาอย่างแสนสาหัส
พระมหาโมคคัลลานเถระ เห็นดังนั้นจึงยิ้มน้อยๆ ด้วยคิดว่าสัตว์ผู้มีร่างกายเช่นนี้เรามิได้เคยเห็นมาก่อน
ฝ่ายพระลักขณเถระ เดินมากับพระโมคคัลลานเถระ เห็นพระเถระยิ้มน้อยๆ ก็อดที่จะสงสัยเสียมิได้ ด้วยคิดว่าการที่พระอรหันต์ผู้ใหญ่จะยิ้มคงต้องมีเหตุ จึงเอ่ยปากถามว่า ข้าแต่พระมหาเถระผู้ใหญ่ ท่านมีเหตุอันใดทำไมถึงได้เดินยิ้ม
พระมหาโมคคัลลานเถระ จึงกล่าวแก่พระลักขณเถระว่า เวลานี้มิใช่เป็นเวลาที่จะตอบปัญหา เอาไว้ถามเราต่อหน้าพระบรมสุคตเจ้า ขณะเข้าไปเฝ้าก็แล้วกัน
กล่าวดังนั้นแล้ว ท่านก็เดินนำพระลักขณะเข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ หลังจากกลับบิณฑบาตฉันภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว พระมหาโมคคัลลานเถระจึงได้ชวนพระลักขณะเข้าไปเฝ้าพระบรมสุคตเจ้า
พระลักขณเถระจึงได้เอ่ยปากถามปัญหาที่ค้างไว้ตอนเช้าว่า พระมหาโมคคัลลานะยิ้มด้วยเหตุอะไร
พระมหาโมคคัลลานะจึงตอบปัญหานั้น ต่อหน้าพระพักตร์พระบรมสุคตเจ้าว่า เมื่อเช้าหลังจากเดินทางออกจากที่พักมาระหว่างทาง ข้าพเจ้าเห็นเปรตตนหนึ่งมีตัวเป็นงูเหลือมยาว ๒๕ โยชน์ มีหัวเป็นคนผมยาวปรากฏไฟลุกไหม้ตั้งแต่หัวมาจดหาง ไหม้ตั้งแต่หางมาจดหัว บางขณะก็ไหม้ตั้งแต่กลางลำตัวไปหัวและหาง สลับสับเปลี่ยนกันอยู่เช่นนี้ เปรตนั้นได้รับทุกข์เวทนาอันแรงกล้า ข้าพเจ้ามิเคยเห็นเปรตชนิดนี้มาก่อนจึงยิ้ม
พระบรมสุคตเจ้า ทรงได้สดับคำของพระมหาโมคคัลลานเถระดังนั้นจึงทรงมีพุทธฏีกาตรัสว่า เราตถาคตก็เคยเห็นเปรตชนิดนั้นมาแล้ว ขณะที่เราพำนักอยู่บริเวณต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ แต่เรามิได้แจ้งแก่ใคร เหตุเพราะจะมิมีผู้ใดเชื่อ ผู้คนพวกนั้นจะพลอยได้รับโทษ แต่มาบัดนี้โมคคัลลานะสามารถเห็นได้ด้วยทิพยจักษุ พอจะเป็นพยานยืนยันให้เราได้ เราจึงกล่าวว่าเคยเห็นเปรตตนนั้นมาก่อนแล้ว
ภิกษุทั้งหลายที่มาประชุมกันในขณะนั้น จึงทูลถามถึงบุพกรรมของเปรตนั้นว่ามีที่มาอย่างไร
องค์สมเด็จพระจอมไตร จึงทรงตรัสเล่าว่า ในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าโน้น
มีเศรษฐีคนหนึ่งมีนามว่า สุมังคลเศรษฐี เป็นผู้มีทรัพย์มาก มียศมาก มีบริวารมาก มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระบรมศาสดากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นยิ่งนัก ได้ทุ่มเทกำลังทรัพย์สร้างวิหารถวายพระบรมศาสดาให้เป็นที่ประทับพร้อมหมู่สงฆ์ พื้นที่โดยรอบวิหารปูลาดด้วยแผ่นอิฐทองคำ กว้างคูณยาว วัดได้ 100 วา เสร็จแล้วก็จัดให้มีพิธีฉลองวิหารนั้น ด้วยกำลังทรัพย์อีกมหาศาล
ในเวลาเช้าของวันหนึ่ง สุมังคลเศรษฐีออกเดินทางจากที่พัก เพื่อไปเข้าเฝ้าพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ระหว่างทางมีศาลาพักร้อนปลูกอยู่ข้างทางหลังหนึ่ง สุมังคลเศรษฐีและบริวาร คิดจะเข้าไปนั่งพักให้หายเมื่อย แต่กลับพบบุรุษผู้หนึ่ง นอนคุดคู้มีผ้าคลุมหัวอยู่กลางศาลา ที่เท้านั้นก็เปื้อนโคลน
สุมังคลเศรษฐี จึงกล่าวแก่บริวารว่า “ชะรอยคนผู้นี้คงจะเป็นคนชอบเที่ยวกลางคืนแล้วมาหลบนอนกลางวัน เราไม่ควรจะพักรวมชายคาเดียวกันกับคนเช่นนี้” กล่าวเช่นนี้แล้วก็ออกเดินทางต่อไป
บุรุษผู้ที่กำลังนอนอยู่นั้น ครั้นพอได้ยินเสียงผู้คนพูดคุยกันอยู่ภายในศาลาจึงเลิกผ้า ผงกหัวขึ้นมาดูหน้าเศรษฐีผู้พูด แล้วผูกใจเจ็บอาฆาต คิดว่าดีหล่ะ ตาเศรษฐีเฒ่ามาดูแคลนเรา เราจะหาวิธีแก้แค้นเสียให้สาสม แล้วก็ลงนอนต่อไป
เวลาผ่านไปถึงยามบ่ายแก่ บุรุษผู้ที่นอนในศาลานั้นตื่นขึ้นมาแล้ว ก็ออกไปสืบถามถิ่นที่อยู่ของเศรษฐี จนรู้แน่ชัดแล้ว ตกราตรีบุรุษนั้นก็แอบไปจุดไฟเผานาข้าวของเศรษฐี จนข้าวที่สุกได้ที่แล้วพร้อมจะเก็บเกี่ยวถูกไฟเผาไหม้จนเสียหาย
เท่านั้นยังไม่พอ บุรุษนั้นยังแอบเข้าไปเผายุ้งข้าวของสุมังคลเศรษฐีด้วย เขาได้เพียรพยายามจองล้างจองผลาญเผานาข้าวและยุ้งข้าวของเศรษฐีอยู่ถึง ๗ ครั้ง ก็หาได้ลดความคั่งแค้นลงไปได้ไม่ ต่อมาก็ย่องเข้าไปจุดไฟเผาเรือนของเศรษฐีอีก ๗ ครั้ง ซ้ำยังแอบเข้าไปในคอกปศุสัตว์ของเศรษฐี ทำการทารุณกรรมต่อฝูงวัวอยู่ถึง ๗ ครั้ง จนบรรดาวัวเหล่านั้นพิการเดินไม่ได้ในที่สุด
บุรุษผู้จมปรักอยู่ในโลกแห่งความแค้น แม้จะจองเวรทำลายทรัพย์สินของเศรษฐีสักกี่ครั้งก็ยังไม่สาสมใจ จึงแสร้งเข้าไปตีสนิทกับหญิงรับใช้ของเศรษฐี แล้วหลอกถามว่า สุมังคลเศรษฐีนี้มีสิ่งใดเป็นที่รักใคร่
นางหญิงรับใช้พอเห็นมีชายหนุ่มมาแสดงกิริยาเกี้ยวพาราสีทอดสะพาน นางจึงมอบไมตรีตอบด้วยความไว้วางใจ ไม่ว่าชายหนุ่มปรารถนาจะรู้สิ่งใด นางก็เล่าแจ้งแถลงจนหมดว่า ท่านสุมังคลเศรษฐีผู้เป็นนายของข้าพเจ้า เป็นผู้ดีมีน้ำใจงาม ไม่มีสิ่งใดที่นายท่านจะหวงแหนรักใคร่เทิดทูลเท่ากับวิหารและพระคันธกุฏี ซึ่งเป็นที่ประทับขององค์พระบรมศาสดากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น ครั้นได้ฟังจึงคิดว่า ดีหละ ถ้าวิหารและพระคันธกุฎีเป็นที่โปรดปานรักใคร่ของไอ้เศรษฐีเฒ่า เราก็จะต้องหาทางไปเผาทำลายเพื่อระบายความแค้นเสียให้สมใจ
ครั้นพอถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ องค์สมเด็จพระจอมไตรพร้อมบรรดาภิกษุสงฆ์สาวก เสด็จออกไปบิณฑบาตตามแถวบ้าน
บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น เมื่อรอดูรู้ว่าปลอดผู้คนในอาวาส จึงตรงเข้าไปทุบทำลายโอ่งน้ำ และภาชนะใส่น้ำเสียจนสิ้น แล้วจุดไฟเผาวิหารและพระคันธกุฎีเสียจนวอดมอดไหม้ ไม่มีเหลือแม้แต่เสากุฎี
ข้างฝ่ายเศรษฐีสุมังคละ พอรู้ข่าวว่าไฟได้ไหม้วิหารและพระคันธกุฎีที่ตนสร้างถวายพระบรมศาสดา ก็รีบมาดู
พอเห็นกองเถ้าถ่าน กระจายอยู่เกลื่อนกล่นแทนที่ที่ตนสร้างวิหารและพระคันธกุฎี เศรษฐีก็มิได้มีอาการปริวิตกหรือเสียใจเลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกลับแสดงอาการดีใจ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่พอใจเป็นอย่างยิ่ง
บรรดาประชาชนคนที่มามุงดู พอได้เห็นอาการของสุมังคลเศรษฐีเช่นนั้น จึงพากันไต่ถามว่า “ท่านเศรษฐีบริจาคทุนทรัพย์จัดสร้างพระวิหารและพระคันธกุฎีไปตั้งมากหลาย เมื่อสิ่งที่ท่านจงใจสร้างโดนไฟเผาทำลายเสียจนสิ้น ทำไมท่านจึงแสดงอาการยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ดีอกดีใจ ท่านไม่รู้สึกเสียดายทรัพย์สินที่โดนเผาทำลายไปบ้างหรือ”
สุมังคลเศรษฐีจึงกล่าวตอบแก่ผู้คนชนที่มามุงดูว่า “นาข้าวและยุ้งฉาง รวมทั้งเรือนของเราโดนไฟไหม้อย่างละเจ็ดครั้ง ถือได้ว่านั่นคือความสูญเสีย แต่พระวิหารและพระคันธกุฎี ที่เราสร้างถวายแด่พระบรมศาสดาและสงฆ์พุทธสาวก ด้วยเงินและทองเป็นอันมาก ถึงจะโดนไฟเผาไหม้มอดหมดไป เงินและทองนั้นก็มิได้หายไปไหนยังจะติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ”
“เหตุที่เราดีใจยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ก็เพราะเราจักได้มีโอกาสละเงินและทอง จัดสร้างพระคันธกุฎีถวายแด่พระบรมศาสดาและพระสงฆ์ จึงถือว่าเราจะสะสมอริยทรัพย์ให้เพิ่มพูนปรากฏในภพชาติต่อไป เช่นนี้จักมิให้เราดีใจได้กระไร”
เมื่อกล่าวเช่นนั้นแล้ว สุมังคลเศรษฐีจึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลอาราธนาให้เสด็จพร้อมหมู่สงฆ์สาวก ไปประทับในที่อันควร ส่วนข้างหนึ่งของบริเวณอาวาสที่ตนสั่งให้บริวารจัดไว้ พร้อมทั้งทูลขอพุทธานุญาตจัดสร้างพระวิหารพร้อมพระคันธกุฎีถวายให้เป็นที่ประทับ
สมเด็จพระกัสสปสัมมาสัมพุทธะ ทรงรับด้วยอาการดุษฎี แล้วทรงเสด็จไปยังที่ที่เศรษฐีและบริวารจัดเตรียมไว้
สุมังคลเศรษฐี มีความลิงโลดยินดีเป็นยิ่งนัก ออกมาสั่งบริวารให้ระดมหาช่างชั้นเลิศรุมกันก่อสร้างพระวิหารและพระคันธกุฎีให้แล้วเสร็จภายใน ๓ เดือน เมื่อเสร็จแล้วเศรษฐีจึงสั่งให้ช่างทองหล่อทองคำให้เป็นแผ่นอิฐ นำมาปูพื้นบริเวณโดยรอบพระวิหารมีความกว้างคูณยาวเท่ากับพื้นที่เดิม แล้วสละทรัพย์ทำการเฉลิมฉลอง พร้อมถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าพร้อมหมู่สงฆ์มีประมาณ ๒ หมื่นองค์ตลอดเจ็ดวัน จึงทูลอาราธนาพระบรมศาสดากับหมู่สงฆ์ให้เสด็จประทับภายในพระวิหารและพระคันธกุฎี
สิ้นสุดงานบุญสุมังคลเศรษฐี ให้มีจิตอิ่มเอิบยินดี ในกุศลผลบุญความดีที่ตนทำเป็นยิ่งนัก
ข้างบุรุษผู้มีใจโฉดชั่ว หมกมุ่นอยู่ในแรงพยาบาท เห็นว่าเศรษฐีมิได้มีความเจ็บแค้นเดือดร้อน ต่อการที่วิหารและพระคันธกุฎีอันเป็นที่รักต้องโดนไฟเผาจนมอดไหม้กลายเป็นเถ้าธุลี บุรุษนั้นแทนที่จะระลึกถึงความดีที่มีอยู่ในจิตใจเศรษฐี กลับคิดว่า
ไอ้เศรษฐีเฒ่าผู้นี้ มันช่างยั่วยวนกวนโทษาเรายิ่งนัก เผานามันก็แล้ว เผายุ้งฉางมันก็แล้ว เผาเรือนมันก็แล้ว ทำลายคอกปศุสัตว์มันก็แล้ว แม้ที่สุดวิหารและพระคันธกุฎีอันเป็นที่รักโดนเราเผาทำลายกลายเป็นกองขึ้เถ้า มันยังมีกะใจยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ระริกระรี่ สดชื่นใจ ไอ้เศรษฐีเฒ่านี้มันช่างไม่สะทกสะท้านอะไรซะเลย ถ้าไอ้เฒ่านี้ยังมีชีวิตอยู่ เราคงจะหาความสุขไม่ได้เป็นแน่แท้ ดีหละเราจะต้องหาวิธีฆ่าไอ้เศรษฐีเฒ่านี้ให้จงได้ พอรุ่งเช้าบุรุษผู้มีจิตคิดแต่เรื่องโฉดชั่วนั้น จึงได้จัดแจงนุ่งห่มด้วยผ้าเนื้อหนา แล้วซ่อนมีดศาสตราเอาไว้ในผ้านุ่งของตน เดินตรงไปยังวิหาร เพื่อรอจังหวะที่จะฆ่าสุมังคลเศรษฐี
บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น เฝ้ากระทำอยู่เช่นนี้ทุกๆ วัน จนสิ้นเวลาไป ๗ วัน ก็ยังไม่มีโอกาสเหมาะที่จะลงมือฆ่าเศรษฐีได้
สุมังคลเศรษฐี เมื่อกล่าวถวายวิหาร พระคันธกุฎี และโภชนาหารแด่พระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์สาวก ๒ หมื่นรูปแล้วครบ ๗ วัน วันต่อมาจึงได้เดินทางเข้ามาเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ วินาศภัยและอัคคีภัยที่เกิดขึ้นได้ในครั้งนี้ ข้าพุทธเจ้ารู้มาว่า เป็นฝีมือของบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งเกิดจากแรงโทษาอาฆาตและริษยา เขาช่างเป็นบุคคลที่น่าสงสารอย่างยิ่ง เขาได้มีความเพียรเป็นอันมาก ที่จะพยายามทำให้ข้าพระองค์ ต้องมีอันเป็นไป ไม่ว่าจะพยายามเผานาและยุ้งฉางถึง ๗ ครั้ง ต่อมาก็พยายามเผาเรือนของข้าพุทธเจ้าอีก ๗ ครั้ง อีกทั้งพยายามที่จะทำลายข้าพุทธเจ้า ด้วยการลอบเข้าไปในคอกปศุสัตว์ ทำร้ายโคขุนของข้าพุทธเจ้าให้ถึงกับพิการเดินไม่ได้ ด้วยการตัดเท้าโคทั้งหมดเสีย แลครั้งสุดท้ายก็แอบลอบเข้ามาทุบทำลายภาชนะใส่น้ำในอาวาส และเผาวิหารพร้อมพระคันธกุฎี กรรมอันนี้หนักหนาสาหัส จักมีผลให้เขาได้รับทุกขเวทนาในภพชาติต่อไป จึงถือได้ว่าเขาช่างหน้าสงสารยิ่งนัก”
“ข้าพุทธเจ้าจึงขอยกผลบุญที่ข้าพุทธเจ้าจักพึงได้รับ ในการถวายมหาทานครั้งนี้แก่บุรุนั้นก่อนผู้อื่น เพื่อว่าเขาอาจจะสุขสบายขึ้นบ้างในโอกาสต่อไป”
กล่าวฝ่ายบุรุษผู้มีจิตคิดชั่ว ได้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าเสื้อหนา แล้วซ่อนมีดเอาไว้ภายในเครื่องนุ่งห่ม ปะปนรวมมากับผู้คนเพื่อรอโอกาสที่จะฆ่าสุมังคลเศรษฐีเสียให้หายแค้น ขณะที่เศรษฐีนั้นได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา เพื่อทูลสิ่งที่ตนปรารถนาแด่พระพุทธองค์ บุรุษนั้นก็นั่งปะปนอยู่กับฝูงชนในที่นั้นด้วย
ครั้นพอได้ฟังวาจาของสุมังคลเศรษฐี กล่าวถึงตนและแบ่งส่วนบุญของเศรษฐีให้แก่ตนก่อนผู้อื่น บุรุษผู้มีจิตคิดแต่ในเรื่องโฉดชั่วนั้น ก็มานึกว่า
เออ... นี่เรากำลังจะทำอะไรนะ เราจ้องจองล้างจองผลาญแก่เศรษฐีถึงเพียงนี้ ซึ่งเขาก็รู้ว่าเราทำ แทนที่จะถือโทษโกรธเคืองแก่เรา เขากับมิได้ผูกโกรธ ซ้ำยังมีเมตตาแบ่งปันส่วนผลบุญ อันได้มายากให้แก่เราก่อนผู้อื่นอีก ดูเอาเถิด แม้บัดนี้เรายังจะคิดฆ่าเขาได้ลงคออีกหรือ ที่ผ่านมาเราได้เพียรที่จะกระทำกรรมอันชั่วช้าหนักหนาสาหัสแก่เขา ถ้าเรามิออกไปขอโทษแก่เขา แล้วขอให้เขายกโทษให้เรา ฟ้าคงจะต้องผ่าหัวเราให้แยกออกเป็นเสี่ยงๆ เป็นแน่
บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น จึงออกมาจากที่ชุมชน แล้วเดินตรงเข้าไปคุกเข่าหมอบกราบลงแทบเท้าสุมังคลเศรษฐี กล่าวว่า
“ข้าแต่นายผู้ประเสริฐ ขอท่านจงโปรดยกโทษในความผิดที่ข้าพเจ้าได้กระทำ พูด คิดแก่ท่าน ข้าพเจ้าขออภัยแก่ท่าน ณ โอกาสนี้”
สุมังคลเศรษฐี พอได้ฟังจากปากบุรุษผู้นั้น ก็ถามขึ้นว่า
“ดูก่อนสหาย ท่านจะให้เรายกโทษให้ด้วยเหตุอันใด ทำไมท่านถึงได้มาแสดงกิริยาประหวั่นงันงกเช่นนี้ด้วยเล่า ขอท่านจงบอกเล่าให้เราได้ฟังก่อน”
บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น จึงได้เล่ารายละเอียดที่ตนจองเวรจองล้างจองผลาญต่อเศรษฐีว่าทำมาอย่างไร จนแม้ที่สุดถึงกับคิดจะฆ่าเสียให้ตาย ให้ท่านสุมังคลเศรษฐีได้ฟัง
สุมังคลเศรษฐี ครั้นได้สดับ ก็ให้นึกสงสัยว่า เอ..อยู่ดีๆ ทำไมบุรุษผู้นี้ถึงได้พยาบาทจองเวรแก่เราถึงเพียงนี้ จึงเอ่ยปากถาม
บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น จึงได้ขอให้เศรษฐีระลึกนึกถึงคำพูด ที่พูดแก่บ่างของตนในศาลาพักร้อนริมทางเมื่อครั้งกระโน้น แล้วบุรุษนั้นจึงกล่าวว่า “เหตุเพราะคำพูดที่เศรษฐีพูดดูแคลนแก่ข้าพเจ้า จึงทำให้ข้าพเจ้าผูกอาฆาตจองเวรมาถึงปัจจุบัน”
สุมังคลเศรษฐี เมื่อระลึกถึงคำพูดของตนในอดีตได้ ถึงกล่าวขอโทษ ขอให้บุรุษนั้นกรุณายกโทษนั้นให้แก่ตนด้วย แล้วก็กล่าวว่า “เอาหละสหาย จงลุกขึ้นเถิดเราได้ยกโทษแก่ท่านแล้ว เราเองก็ไม่ดี ที่พูดโดยไม่คิดว่าผู้อื่นจะได้ยิน จงลุกขึ้นเถอะนะ อย่ามานั่งคุกเข่าอยู่เช่นนี้เลย”
บุรุษนั้นจึงกล่าวว่า “ข้าแต่นายผู้ประเสริฐ ถ้าท่านยกโทษให้แก่ข้าพเจ้าจริงๆ ขอนายท่านจงรับข้าพเจ้าพร้อมลูกเมีย ให้เป็นทาสรับใช้ในเรือนของท่าน ข้าพเจ้าและลูกเมียต้องการเพียงก้อนข้าวและหยดน้ำจากนายท่าน เพื่อประทังชีวิตให้อยู่ได้เท่านั้น มิต้องการสิ่งใดตอบแทนอีก ขอนายท่านโปรดจงให้โอกาสข้าพเจ้า และครอบครัวได้ถ่ายโทษด้วยวิธีนี้ด้วยเถิด”
สุมังคลเศรษฐี จึงกล่าวว่า “สหายเราให้สัจจะวาจาว่าจะไม่ถือโทษแก่ท่าน แต่เรามิอาจรับท่านและครอบครัวเข้ามาอยู่ในบ้านได้ ด้วยเหตุเพราะเราเกรงว่า เมื่อท่านมาอยู่ร่วมบ้านเดียวกับเราแล้ว เราคงจะว่ากล่าวตักเตือนท่านมิได้ เพราะเพียงแต่ในอดีตเรากล่าวตำหนิท่านเล็กน้อย ท่านยังผูกอาฆาตต่อเราถึงเพียงนี้ เมื่อท่านมาอยู่ร่วมกับเรา วันข้างหน้าเราหรือจะกล้าว่ากล่าวตักเตือน ท่านจงไปเสียเถิดสหาย”
บุรุษนั้นได้ยอมรับการตัดสินใจของสุมังคลเศรษฐีแต่โดยดี แล้วจึงลาถอยออกมาจากที่ประชุม ครั้นพ้นเขตอาวาสแล้วไม่นาน ขณะที่บุรุษนั้นกำลังจะเดินกลับบ้าน ฉับพลันฟ้าก็ได้ฟาดลงมาโดนศรีษะของบุรุษผู้โฉดชั่วนั้นแตกเป็นเสี่ยงๆ ตายลงในที่สุด
บุรุษนั้นเมื่อตายลงแล้ว ด้วยกรรมชั่วที่เขาได้สั่งสมกระทำไว้ นำพาเขาให้ไปบังเกิดในอเวจีนรกหมกไหม้อยู่สิ้นระยะเวลา ๑ พุทธันดร (แสนมหากัป) จนลุถึงพระศาสนาของพระบรมศาสดาสมณโคดม จึงได้มาบังเกิดเป็นเปรตงูเหลือม วนเวียนอยู่ชายเขาคิดชฌกูฎชานกรุงราชคฤห์ จนปรากฏตัวให้แก่เราตถาคตและโมคคัลลานเถระได้เห็นในที่สุด
เมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงที่มาของเปรตงูเหลือมจบลง พระองค์ก็ทรงโปรดแสดงผลที่คนพาล (คือคนขาดปัญญา) จะได้รับ ความว่า
“คนพาล (คนขาดปัญญา) ทำบาป (ทำความชั่ว) ย่อมไม่รู้สึกตัวว่าเราทำบาป ต่อเมื่อความเดือดร้อนเพราะผลแห่งการกระทำ ย่อมส่งให้ได้รับโทษให้จมอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ทรมานจึงมารู้สึกตัวทีหลังก็ต่อเมื่อสายเสียแล้ว”
สรุป
บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น เป็นคนพาล ไม่มีปัญญา สุมังคลเศรษฐีชี้ให้เห็นถึงโทษของการเที่ยวกลางคืน ว่าไม่ควรจะคบค้าด้วย เพราะเป็นเหตุให้ฉิบหาย แทนที่จะมีสติเกิดปัญญา ตำหนิติเตียนตนเองให้หยุดพฤติกรรมนั้นๆ กลับไปผูกโกรธ จองเวร แก่ผู้ชี้ขุมทรัพย์ (ตักเตือน) จนในที่สุดพาตนตกเป็นทาสของอารมณ์ไม่เลือกหน้าพระหน้าพรหม ทำให้ต้องทุกข์ระทมเพราะการก่อกรรมชั่วของตน เมื่อพ้นจากนรกก็มาใช้เศษหนี้กรรมชั่ว ด้วยการมาเกิดเป็นเปรตงูเหลือมที่มีไฟเผาผลาญอยู่ตลอดเวลา แม้จะเจ็บปวดปานใด ก็ไม่รู้จักตาย เพราะยังไม่หมดกรรมชั่ว
“ความทุกข์เดือดร้อนทั้งปวงนี้ มิมีใครเลือกสรรจัดหาให้ มีแต่ตนเป็นคนเลือกเอง” สงสารเอ๋ย...สงสารจริงๆ
www.sil5.net
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น