............อนุญาตุให้บทความทั้งหมดเป็นสาธารณะ.......
7 พ.ค. 2554
เปรต : เปรตปากเน่า
เปรต : เปรตปากเน่า
กาลเมื่อ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ ทรงปรารภถึงเปรตปูติมุขเปรต (เปรตปากเน่า) ให้เป็นต้นเหตุ แล้วจึงทรงตรัสเทศนาว่า
กาลเมื่อพระศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกุลบุตร ๒ คน ได้มีศรัทธาออกบวชในพระศาสนา เป็นผู้มีความประพฤติเคร่งครัด มีอาจารมรรยาทดี เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ได้พำนักอาศัยอยู่ในอาวาสที่สร้างอยู่ ณ ชนบทแห่งหนึ่ง
กาลต่อมา มีภิกษุรูปหนึ่ง ได้เดินทางมาจากหัวเมืองที่ห่างไกล ได้มาขออาศัยอยู่ด้วยกับภิกษุผู้ทรงศีลทั้งสองรูปในอาวาสนั้น
พระเถระเจ้าทั้งสอง ก็มีจิตกรุณา อนุญาตให้ภิกษุรูปนั้นได้อยู่อีกทั้งยังทำการดูแลต้อนรับเป็นอย่างดี
กาลต่อมาภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะนั้น ได้คิดขึ้นมาว่า อาวาสแห่งนี้ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสม มีหมู่ไม้ใหญ่อันให้ร่มเงา อุดมไปด้วยน้ำท่า อยู่แล้วร่มเย็นสบาย อีกทั้งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน ชาวบ้านก็มีจิตศรัทธาบริจาคทานสมบูรณ์มิได้ขาด ถ้าเราจักอยู่ต่อไปในอาวาสนี้ คงมิได้รับความยากลำบากใดๆ แต่ก็คงจะมีเหตุให้ไม่สบายใจอยู่ดี เป็นเพราะภิกษุเก่าทั้งสองรูปนั้น ยังคงอยู่ที่นี้ด้วย
ผู้คนชนทั้งหลาย ก็อาจจะคิดได้ว่า เราเป็นศิษย์ของพระเก่าทั้งสอง ลาภสักการะอันเลิศพึงจะมีแก่เราผู้เดียว ก็ต้องแยกแตกแบ่งให้แก่ภิกษุเก่าทั้งสองนั้น กว่าจะมาถึงเราลาภนั้นๆ ก็คงจะเป็นชนิดเลวแล้ว เห็นทีเราจะต้องหาวิธียุแหย่ ให้ภิกษุเก่าทั้งสองแตกแยกทะเลาะวิวาทกัน จะได้ต่างคนต่างไปเสียจากอาวาสนี้
อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุเก่าผู้เป็นพระเถระสูงสุด ก็ให้โอวาทแก่ภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่าตามธรรมเนียม เสร็จแล้วก็กลับไปยังกุฏีของตน
ภิกษุอาคันตุกะนั้น ก็เข้าไปหา แล้วกล่าวว่า “ข้าแต่พระอาจารย์ผู้เจริญ พระเถระอีกองค์ที่เป็นสหธรรมิกของท่าน มีวิสัยเสแสร้ง แกล้งทำตนเป็นมิตรที่ดีต่อหน้าท่าเท่านั้น เวลาลับหลังก็ติเตียน นินทา พูดจาด่าว่าดุจดังเป็นศัตรูกับท่าน”
พระเถระเจ้าพอได้ฟัง คำพูดของภิกษุอาคันตุกะ จึงกล่าวถามว่า “เขาว่าอย่างไร”
ภิกษุอาคันตุกะ จึงตอบว่า “พระเถระผู้เป็นเพื่อนอาจารย์กล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า ท่านเป็นคนชอบโอ้อวด วางอำนาจ ชอบเสแสร้ง มากมายาลวงโลก หาเลี้ยงชีพด้วยวิธีประจบคฤหัสถ์”
พระเถระผู้มีอายุ ครั้งได้ฟังจึงยิ้ม แล้วกล่าวว่า “อย่าเลย ขอท่านอย่ากล่าวเช่นนี้ เรารู้ดีว่า เพื่อสหธรรมิกของเรา จะไม่กล่าวเช่นนั้นเป็นแน่ เรารู้จักเขามาตั้งแต่ยังเป็นฆราวาสแล้ว เขาเป็นผู้มีอัธยาศัยดี มีน้ำใจ เป็นผู้เคร่งครัดในศีล ขอท่านอย่าได้พูดเช่นนี้อีกเลย”
ภิกษุอาคันตุกะ พอได้ฟังจึงกล่าวว่า “ถ้าท่านอาจารย์คิดอย่างนี้ก็ดีแล้ว เป็นการสมควร เพราะคุ้นเคยอยู่ร่วมกันมานาน แต่สิ่งที่ข้าพเจ้านำมาพูด ก็ด้วยความเคารพรักต่อท่านอาจารย์ ถ้ามิเช่นนั้นจะมาพูดทำไม ข้าพเจ้าก็มิเคยผิดใจกับพระเถระเพื่อนท่าน สักวัน แล้วท่านอาจารย์จะรู้ความจริงเอง”
กล่าวดังนั้นแล้ว ภิกษุอาคันตุกะ ก็เข้าไปหาพระเถระผู้เป็นเพื่อนของอาจารย์ แล้วก็กล่าวยุยงขึ้นว่า “ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าได้ยินท่านอาจารย์ผู้เป็นสหธรรมมิตรกับท่าน กล่าวตำหนิติว่า ท่านเป็นบุคคลที่มักมาก จิตใจคับแคบ มีมารยาสาไถย ต่อหน้าว่าอย่างลับหลังทำอีกอย่าง ด้วยความรักเคารพในท่าน ข้าพเจ้าทนฟังเขาตำหนิท่านอยู่ไม่ได้ จึงนำความมาบอกแก่ท่าน จะได้ระวังตน เพราะท่านกำลังจะไว้ใจศัตรู”
ข้างพระเถระ พอได้ฟังภิกษุอาคันตุกะ มากล่าวดังนั้น จึงพูดว่า “อย่าเลย ท่านอย่ามากล่าวดังนี้เลย เรารู้จักเพื่อนสหธรรมิกรูปนี้ดีมาตั้งแต่เป็นฆราวาสแล้ว เขาเป็นผู้มีกิริยาวาจาเรียบร้อยงดงาม สำรวมระวังอยู่ในศีล เรามิเคยเห็นแม้สักครั้งที่เขาจะประพฤติทุจริต”
ภิกษุอาคันตุกะจึงกล่าวขึ้นว่า “ไม่เป็นไร ท่านมิเชื่อข้าพเจ้าก็ไม่เป็นไร สักวันหนึ่งความจริงก็จะต้องปรากฏ ที่ข้าพเจ้ามาพูดมาเตือนเพราะหวังดี ถ้าท่านไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร” กล่าวเช่นนั้นแล้ว ภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะ ก็กลับไปยังที่พักของตน
วันต่อมา ภิกษุอาคันตุกะนั้น ก็แวะเวียนเข้าไปหาพระเถระทั้งสอง แล้วก็พูดจายุแยงใส่ไคร้ให้ทั้งสองผิดใจกัน ทำอยู่เช่นนี้บ่อยครั้ง จนในที่สุด พระเถระทั้งสองต่างฝ่ายต่างคิดว่า ดูท่าเรื่องเหล่านี้คงจะเป็นจริง ต่างฝ่ายต่างก็ไม่พูดจาซึ่งกัน และไม่ร่วมทำกิจวัตร ไม่สมาคมต่อกัน แม้ที่สุดก็ไม่เคารพนับถือต่อกัน
เหตุการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ ไม่นานพระเถระทั้งสองก็เก็บบาตรและบริขารออกเดินทางจากวัดไปคนละทาง
ภิกษุอาคันตุกะ ครั้นเห็นว่าแผนการยุแหย่ของตนมีผลสำเร็จ เป้นเหตุให้พระเถระทั้งสองผิดใจกัน จนต่างฝ่ายต่างพากันทิ้งวัดหนีไปเสีย ภิกษุผู้มีความปรารถนาชั่วช้าก็รื่นเริงยินดี พอถึงเวลาเช้าก็เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงกล่าวถามภิกษุนั้นว่า “พระเถระทั้งสองไปไหน”
ภิกษุนั้นจึงตอบว่า “พระเถระทั้ง ๒ ทะเลาะกันทั้งคืนยันรุ่ง แม้เราจะห้ามปรามก็ไม่เชื่อฟัง พอรุ่งเช้าต่างก็เก็บข้าวของหนีออกจากวัดไม่รู้ว่าไปทางไหน”
ชาวบ้านจึงกล่าวว่า “ถึงพระเถระทั้งสองจะหนีไปแล้ว แต่ขอท่านจงอยู่ในวัดนี้เพื่อที่จะอนุเคราะห์พวกข้าพเจ้าให้ได้ทำบุญ ฟังธรรม”
ภิกษุผู้คิดชั่วนั้นจึงรับว่า “ได้ซิโยม อาตมาจะพำนักอยู่ในอาวาสนี้ เพื่อที่จะได้ดูแลรักษาอาวาสของพวกท่านต่อไป”
จำเนียรกาลเนิ่นนานมา ภิกษุนั้นเมื่อได้เป็นใหญ่ในอาวาส อีกทั้งต้องอยู่แต่ลำพังผู้เดียว ก็รู้สึกโดดเดี่ยว หงอยเหงา เศร้าซึม เหตุเพราะวันๆ ก็ไม่มีผู้ใดจะมาพูดคุยด้วย จะเจอหน้าผู้คนก็ตอนไปบิณฑบาต แต่ก็มิได้พูดได้คุย กลับมาวัดฉันอาหารก็ต้องอยู่คนเดียว สถานการณ์เช่นนี้ ถ้าเป็นภิกษุผู้ทรงศีลเจริญธรรมก็ต้องถือว่าเป็นสถานการณ์ที่เป็นลาภอย่างยิ่ง เพราะจะได้มีโอกาสเจริญภาวนากัมมัฏฐาน แต่ภิกษุรูปนี้หาได้มีความสำรวมในศีลไม่ อีกทั้งยังมิได้เคยเจริญภาวนาใดๆ เลย จิตก็กำเริบกระสับกระส่าย ไม่สามารถหาความสุขจากความสงบได้ คุ้นเคยแต่จะระคนปนอยู่กับหมู่คณะ ครั้นเมื่อขาดหมู่คณะไป ใจก็เศร้าหมอง ทั้งยังรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า ทำไมนะตอนพระเถระทั้งสองรูปอยู่อาศัยภายในวัด จึงมีผู้คนไปมาหาสู่ท่านทั้งสองอยู่เนืองนิจ พร้อมทั้งนำลาภสักการะมาถวายให้ท่านทั้งสองอยู่เนืองๆ แต่เวลานี้ ที่นี่ไม่มีพระเถระทั้งสองแล้ว หมู่ชนผู้คนต่างก็พากันหดหาย ไม่มาให้เห็นหน้า ลาภที่เกิดจากหมู่ชนเหล่านั้น ที่เราหวังจะได้เลยพลอยหดหายไปด้วย เรานี่มันซวยจริงๆ นี่ถ้าเราไม่ไปยุแหย่ท่านผู้ทรงศีลทั้งสองให้แตกร้าวกัน แล้วต่างพากันหนีไป ป่านนี้ลาภเหล่านั้นคงจะมากมีแก่เราไปด้วย เราได้ทำผิดเสียแล้ว ดันไปยุแหย่ให้ผู้ทรงศีลทั้งสองแตกกัน แล้วเอกลาภที่หวังจะได้ก็มิได้เกิดแก่เรา ประโยชน์อันใดเราจะอยู่เฝ้าวัดเก่าๆ กุฏิผุๆ
ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามกชั่วช้านั้น เฝ้าครุ่นคิดอยู่เช่นนั้นจนถึงกับเกิดอาการเศร้าซึมล้มป่วยลง อีกทั้งมิมีผู้ใดคอยดูแล ก็ยิ่งคิดเสียใจว่า เมื่อครั้งที่พระเถระทั้งสองยังอยู่ เราป่วยไข้ไม่สบาย ท่านทั้งสองยังจะคอยช่วยปรนนิบัติ ดูแลช่วยเหลือ บัดนี้เราต้องมานอนป่วยอยู่แต่ผู้เดียว โดยมิมีใครช่วยเหลือเอาใจใส่
ยิ่งคิดก็ยิ่งเสียใจ จนบังเกิดลมกำเริบขึ้นภายใน ดันหัวใจให้หยุดเต้น ตายลงในที่สุด
ภิกษุนั้นเมื่อตายลงแล้ว ด้วยอำนาจผลกรรมชั่วที่ตนทำ ส่งให้ไปบังเกิดเป็นสัตว์นรกอเวจี หมกไหม้เวียนเกิดเวียนตายอยู่ในนรกขุมนั้นเป็นเวลานานแสนนาน
กล่าวฝ่ายพระเถระทั้งสอง ต่างองค์ต่างออกเดินทางรอนแรมไปทั่วครามนิคมชนบท ในที่สุดก็มาพบกัน ณ อาวาสแห่งหนึ่ง และก็พากันทักทายปราศรัย เล่าเหตุทั้งหลาย ที่ได้ฟังมาจากปากของภิกษุ อาคันตุกะผู้ปรารถนาชั่วนั้น ทั้งสองรูป
ครั้นพระเถระทั้งสองได้ทราบความจริงของกันและกันแล้ว ก็ชักชวนกันกลับไปยังอาวาสเดิมของตน
หมู่คนชนชาวบ้านทั้งหลาย เมื่อได้เห็นพระเถระทั้งสองกลับมาสู่อาวาส ก็พากันยินดี ออกจากบ้านนำเอาเครื่องใช้ น้ำฉัน มาถวายแด่พระเถระที่ตนเคารพเลื่อมใส แล้วก็กล่าวว่า บัดนี้ภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะนั้นได้ป่วยตายเสียแล้ว
พระเถระทั้งสอง พอได้สดับข่าวอวมงคลเช่นนั้น ก็บังเกิดธรรมสังเวช เมื่อชาวบ้านพากันกลับไปยังเรือนของตนหมดแล้ว พระเถระทั้งสองก็ชักชวนกันเจริญสติทำสมาธิภาวนา ยังญาณปัญญาให้เกิดเห็นธรรมชาติแท้ของชีวิตและสรรพสิ่งว่า ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับไป ไม่มีใคร สิ่งใดดำรงอยู่ได้ตลอดกาลตลอดสมัย จิตก็คลายจากความยึดมั่นถือมั่น บรรลุอรหันตผลพร้อมปฏิสัมภิทาญาณ
ข้างฝ่ายภิกษุผู้ปรารถนาชั่วช้านั้น เมื่อตายแล้วไปตกอยู่ในอเวจีมหานรกสิ้นเวลาไปตลอด ๑ พุทธันดร จึงได้พ้นจากขุมนรกนั้น แล้วมาบังเกิดเป็นเปรต
ผู้มีรูปกายสีทองเหลืองอร่าม แต่มีปากอันเน่า มีหมู่หนอนชอนไชกัดกินลิ้นและปากร่วงหล่นออกมาจากปากอยู่ตลอดเวลา ทำให้ปากนั้นมีกลิ่นเน่าเหม็นตลบอบอวนไปทั่วกายของเปรตนั้น
ขณะนั้นพระนารทะเถระเจ้า เดินลงมาจากยอดเขาคิชฌกูฏถิ่นที่พำนัก ระหว่างทางได้มาพบเปรตผู้มีกายเรืองรองดุจทอง เดินวนเวียนไปมา มีหมู่หนอนชอนไชล่วงหล่นลงมาจากปากดุจดังลำธารที่ไหลจากหินผา มีกลิ่นดังเนื้อเน่า พระเถระเจ้าจึงกล่าวถามว่า “ดูก่อนผู้จมทุกข์ เหตุไฉนรูปกายและปากเจ้าจึงมีสภาพดังนี้”
เปรตภิกษุอาคันตุกะนั่น จึงกล่าวตอบว่า “อดีตสมัยพระศาสนาของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนามว่าพระกัสสปะ ข้าพเจ้ามีจิตศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา ออกบวชปฏิบัติในพระธรรมคำสอนพระบรมศาสดา เหตุนี้จึงทำให้กายของข้าพเจ้ามีสีเรืองรองดังทอง ครั้นต่อมาเกิดความประมาทมัวเมา หลงอยู่ในลาภสักการะและเกียรติภูมิ จึงได้กระทำกรรมชั่วด้วยการกล่าววาจายุแหย่ พระเถระผู้ทรงศีล ทรงธรรม ๒ รูป ผู้เป็นสหายกัน ให้แตกแยก แล้วหนีออกจากอาวาสที่ข้าพเจ้าต้องการจะครอบครอง ด้วยเห็นแก่ลาภที่จะบังเกิดแก่ข้าพเจ้าคนเดียว
เมื่อพรเถระทั้งสองไปแล้ว ลาภมิได้เกิดดังปรารถนา เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเสียใจจนล้มป่วยแล้วตายลงในที่สุด
กรรมอันนั้น นำพาข้าพเจ้าไปตกนรกหมกไหม้อยู่ในอเวจีสิ้นเวลา ๑ พุทธันดร ครั้นพ้นจากนรกขุมนั้นแล้ว เศษกรรมอันนั้นยังส่งผลให้ข้าพเจ้าเป็นเปรตผู้มีรูปกายและปากดังที่ท่านผู้เจริญได้เห็นในเวลานี้นี่แหล่ะ
เปรตนั้นจึงกล่าววาจาสุภาษิตแก่พระมหาเถระนารทะ ต่อไปว่าท่านผู้เจริญได้รู้เห็นรูปกายและปากของข้าพเจ้าดังนี้แล้ว โปรดจงจำนำเอาไปอบรมสั่งสอน มหาชนคนทั้งหลายว่าอย่าทำกรรมชั่วด้วยปาก อย่างใช้ปากเป็นเหตุให้พาตนไปบังเกิดในนรก อย่างสร้างความทุกข์ทรมานด้วยปากของตนเลย มิเช่นนั้นจะมีสภาพเดียวกันกับข้าพเจ้า
พระนารทะเถระเจ้า พอได้ฟังคำของเปรตปากเน่าดังนั้นแล้ว จึงเดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมสุคตเจ้า แล้วเล่าเรื่องทั้งปวงที่ตนได้เห็นได้ฟัง ถวายแด่พระพุทธองค์ให้ทรงทราบ
พระพุทธองค์ จึงทรงยกเรื่องเปรตปากเน่านั้นให้เป็นเหตุ แล้วทรงโปรดแสดงธรรมสั่งสอนพระภิกษุและประชุมชนทั้งปวงให้ละวจีทุจริต ตั้งมั่นอยู่ในวจีสุจริต คือ งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ งดเว้นจากการพูดคำหยาบ แล้วปฏิบัติวจีสุจริตจะได้รับผลเป็นสุข ไม่ต้องตกนรกเพราะคำพูดของตน
www.sil5.net
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น