....ขอเชิญร่วม.....ปิดทองรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส..... วัดหน้าพระบรมธาตุ ....... ...มีวัตถุมงคล...รุ่นพิเศษ.............................อนุญาตุให้บทความทั้งหมดเป็นสาธารณะ.......

13 พ.ค. 2554

การบรรพชา อุปสมบทในทางพุทธศาสนา










คำว่า บวช มาจากภาษาบาลีว่า ปะวะชะ แปลว่า เว้น ได้แก่ งดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น คือ เว้นจากกิจบ้านการเรือนมาบำเพ็ญเพียรทำกิจพระศาสนา
การบวชนั้น ถ้าเป็น สามเณร เรียก บรรพชา ถ้าเป็น พระภิกษุ เรียก อุปสมบท











การบวช มี ๓ อย่าง คือ
• พระพุทธเจ้าบวชให้ด้วยทรงพระดำรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อพ้นจากทุกข์โดยชอบเถิด เรียก เอหิภิกขุอุปสัมปทา


• พระสาวกบวชให้ ด้วยเปล่งวาจาว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ นี้เรียก ติสรณคมนูปสัมปทา แปลว่า อุปสมบทโดยการเข้าถึงพระรัตนตรัย

• พระสงฆ์ ๕-๑๐ รูป รวมทั้งพระอุปัชฌาย์บวชให้ด้วยการสวดญัตติ ๑ ครั้ง อนุสาวนา ๓ ครั้ง รวมเป็น ๔ ครั้ง เรียก ญัตติจตุตถกรรมวาจา การบวชข้อที่ ๓ นี้ เป็นการบวชที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

การเตรียมการ

• ผู้ปกครองไปแจ้งความประสงค์กับทางวัด และนมัสการพระอุปัชฌาย์ ขอนำบุตรเข้ารับอุปสมบทที่วัด ตามวันเวลาที่ต้องการ

• นำบุตรที่จะเข้าอุปสมบทไปมอบถวายพระอุปัชฌาย์ตามธรรมเนียมของวัด โดยจัดดอกไม้ธูปเทียนไปถวายท่านด้วย และไปซ้อมขานนาคตามที่ทางวัดกำหนด

• การเตรียมจัดงานที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่ความประสงค์ของเจ้าภาพ โดยคำนึงถึงความประหยัด







ของใช้ในพิธี

• เครื่องอัฐบริขาร (สบง, จีวร, สังฆาฏิ, บาตร, มีดโกน, เข็ม, ประคดเอว, ผ้ากรองน้ำ (ธมกรก)
• ไตรอาศัย ๑ ไตร
• พานธูปเทียนแพ ๒ ชุด (สำหรับบรรพชา)
• ดอกไม้ธูปเทียนขอนิสัย ๑ ชุด (สำหรับอุปสมบท)
• จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระอุปัชฌาย์ คู่สวด และพระอันดับ โดยจัดลดหลั่นกันลงไป
• ของใช้สำหรับพระใหม่ (ทั้งหมดดังกล่าวมา ให้ปรึกษาทางวัดบางวัด จะรับเครื่องอัฐบริขารให้เลย เจ้าภาพเพียงจ่ายเงินเท่านั้น)














ลำดับพิธี

• นำนาคเวียนประทักษิณอุโบสถหรือพระอุโบสถ ๓ รอบ โดยจัดลำดับขบวนดังนี้
ลำดับ ๑ บิดานาคสะพายบาตรถือตาลปัตรเดินนำหน้า
ลำดับ ๒ มารดาหรือญาติผู้เกี่ยวข้องอุ้มไตร
ลำดับ ๓ นาคพนมมือถือดอกบัว ๓ ดอก เดินตาม
ลำดับ ๔ ผู้ถือของอื่น ๆ ตามกันไป

• เดินครบ ๓ รอบ แล้วนาคคุกเข่าวันทาเสมา พนมมือถือดอกบัวว่าดังนี้
อิมินา สักกาเรนะ พัทธสีมายัง พุทธัง ธัมมัง สังฆัง อภิปูเชมิ ก็ได้ หรือจะว่าคำอื่นใดที่ทางวัดนั้น ๆ ใช้อยู่ก็ใช้ได้ทั้งนั้น

• โปรยทาน (ถ้ามี) เสร็จแล้วนำนาคเข้าอุโบสถ โดยบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่จูงมือเข้าไป พิธีกรนำว่าคำกราบพระ (อะระหัง...) อาราธนาศีลห้า รับศีล (บางวัดไม่มีรับศีลห้า)

• นาคและผู้เข้าร่วมพิธีรับศีล จบแล้ว

• นาคคุกเข่ากราบบิดามารดา หรือผู้จัดการเรื่องอุปสมบทให้รับไตร เดินเข้าสู่ท่ามกลางสงฆ์เขาหาพระอุปัชฌาย์ (ต่อจากนั้นสงฆ์จะแนะนำให้ปฏิบัติตามกรรมวิธีการอุปสมบท จนเสร็จพิธี)

........กุลบุตรผู้มีศรัทธามุ่งบรรพชา อุปสมบท พึงรับผ้าไตรอุ้มประนมมือเข้า
ไปในสังฆสันนิบาต วางผ้าไตรไว้ข้างตัวด้านซ้าย รับเครื่องสักการถวายพระ,
อุปัชฌายะ แล้วกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง แล้วอุ้มผ้าไตรประนม
มือยืนขึ้นเปล่งวาจาขอบรรพชา หยุดตามจุดจุลภาค ว่า


.........อุกาสะ วันทามิ ภันเต, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต,
มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง, สามินา กะตัง ปุญญัง
มัยหัง, ทาตัพพัง สาธุ สาธุ อะนุโมทามิ ฯ


.........อุกาสะ การุญญัง กัตวา, ปัพพัชชัง เทถะ เม ภันเต,

(นั่งลงคุกเข้าประนมมือว่า)

..........อะหัง ภันเต, ปัพพัชชัง ยาจามิ,
..........ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต, ปัพพัชชัง ยาจามิ,
..........ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต, ปัพพัชชัง ยาจามิ,
..........สัพพะทุกขะ, นิสสะระณะนิพพานะ, สัจฉิกะระณัตถายะ, อิมัง
กาสาวัง คะเหตวา, ปัพพาเชถะ มัง ภันเต, อะนุกัมปัง อุปาทายะ ฯ


(ตั้งแต่ สัพพะทุกขะ มา ว่า ๓ หน พระอุปัชฌายะรับผ้าไตร แล้วว่าต่อไป)


..........สัพพะทุกขะ, นิสสะระณะนิพพานะ, สัจฉิกะระณัตถายะ, เอตัง
กาสาวัง ทัตวา, ปัพพาะเชถะ มัง ภันเต, อะนุกัมปัง อุปาทายะ ฯ
(ตั้งแต่ สัพพะทุกขะ มา ว่า ๓ หน)


..........ในลำดับนั้น พระอุปัชฌายะให้โอวาทและบอก ตะจะปัญจะกะกัม-
มัฏฐาน ให้ว่าตามไปทีละบท โดยอนุโลมและปฏิโลม ดังนี้


..........เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ (อนุโลม)
..........ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา ฯ (ปฏิโลม)


..........พระอุปัชฌายะชักอังสะออกจากไตรสวมให้แล้ว สั่งให้ออกไปครอง
ผ้าครบไตรจีวรตามระเบียบ ครั้นเสร็จแล้วรับเครื่องไทยทานเข้าไปหาพระ
อาจารย์ ถวายท่านแล้วกราบลง ๓ หน ยืนประนมมือเปล่งวาจาขอสรณะ
และศีลดังนี้


..........อุกาสะ วันทามิ ภันเต, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต,
มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง, สามินา กะตัง ปุญญัง
มัยหัง, ทาตัพพัง สาธุ สาธุ อะนุโมทามิ ฯ,
..........อุกาสะ การุญญัง กัตวา, ติสะระเณนะ สะหะ, สีลานิ เทถะ
เม ภันเต,

(นั่งลงคุกเข่าขอสรณะและศีลดังต่อไปนี้)

อะหัง ภันเต, สะระณะสีลัง ยาจามิ,
ทุติปยัมปิ อะหัง ภันเต, สะระณะสีลัง ยาจามิ,
ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต, สะระณะสีลัง ยาจามิ,


ลำดับนั้น พระอาจารย์กล่าวคำนมัสการนำให้ผู้มุ่งบรรพชาว่าตามไป ดังนี้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ ฯ (ว่า ๓ หน)



..........แต่นั้นท่านจะสั่งด้วยคำว่า เอวัง วะเทหิ หรือ ยะมะหัง วะทามิ
ตัง วะเทหิ พึงรับว่า อามะ ภันเต ครั้นแล้วท่านนำให้เปล่งวาจาว่า
สรณคมน์ พึงว่าตามไปทีละพากย์ดังนี้


....................พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
....................ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
....................สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
..........ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
..........ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
..........ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
..........ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
..........ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
..........ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ


..........เมื่อจบแล้ว ท่านบอกว่า ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง พึงรับว่า
อามะ ภันเต ลำดับนั้นพระอาจาราย์จะบอกให้รู้ว่า การบรรพชาเป็น
สามเณรสำเร็จด้วยสรณคมน์เพียงเท่านี้ ต่อแต่นั้นพึงสมาทานสิกขาบท ๑๐
ประการ ว่าตามท่านไปดังนี้


..........ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
..........อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
..........อะพรัหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
..........มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
..........สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมา-
ทิยามิ
..........วิกาละโภชะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
..........นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมา-
ทิยามิ
..........มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานาเวระมะณี
สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
..........อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมา-
ทิยามิ
..........ชาตะรูปะระชะตะปะฏิคคะหะณา เวระมะณี สิกขาปะทัง
สะมาทิยามิ ฯ
..........อิมาทิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ ฯ ข้อ อิมานิ นี้ว่า ๓ จบ
แล้วกราบลง ๑ หน ยืนขึ้นว่า
..........วันทามิ ภันเต, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต, มะยา
กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง, สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง,
ทาตัพพัง สาธุ สาธุ อะนุโมทามิ ฯ คุกเข่ากราบ ๓ หน


..........ในลำดับนั้น สามเณรพึงรับบาตรอุ้มเข้าไปหาพระอุปัชฌายะในสังฆ-
สันนิบาต วางไว้ข้างตัวซ้ายรับเครื่องไทยทานถวายท่านแล้วกราบลง
๓ หน ยืนปะนมมือกล่าวคำขอนิสัย ว่าดังนี้


..........อุกาสะ วันทามิ ภันเต, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต,
มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง, สามินา กะตัง ปุญญัง
มัยหัง, ทาตัพพัง สาธุ สาธุ อะนุโมทานิ ฯ,
..........อุกาสะ การุญญัง กัตวา นิสสะยัง เทถะ เม ภันเต,

(นั่งคุกเข่า)

........อะหัง ภันเต, นิสสะยัง ยาจามิ,
..........ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต, นิสสะยัง ยาจามิ
..........ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต, นิสสะยัง ยาจามิ ฯ
..........อุปัชฌาโย เม ภันเต โหหิ ฯ วรรคนี้ว่า ๓ หน เมื่อพระ
..........อุปัชฌาย์ว่า โอปายิกัง, ปะฏิรูปัง ปาสาทิเกนะ สัมปาเทหิ, แล้วสามเณร
พึงกล่าวรับว่า อุกาสะ สัมปะฏิจฉามิ ฯ ในระหว่าง ๆ ๓ หน แล้วว่าต่อ
..........อัชชะตัคเคทานิ เถโร มัยหัง ภาโร, อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร
วรรคนี้ว่า ๓ หน แล้วกราบลง ๑ หน ยืนขึ้นว่าต่อ
..........วันทามิ ภันเต, สัพพัง อะปาราธัง ขะมะถะ เม ภันเต, มะยา
กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง, สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง
ทาตัพพัง สาธุ สาธุ อะนุโมทามิ ฯ, คุกเข่ากราบ ๓ หน


..........ตั้งแต่ อุปัชฌาโย ฯลฯ เถรัสสะ ภาโร ๓ วรรค นี้ พระ
อุปัชฌายะบางองค์ให้ว่ารวดเดียวตามแบบนั้นก็มี ให้ว่าเป็นตอน ๆ ดังนี้คือ
เมื่อสามเณรว่า อุปัชฌาโย เม ภันเต โหหิ ๓ หน แล้วพระ
อุปัชฌายะกล่าวรับว่า โอปายิกัง ปะฏิรูปัง ปาสาทิเกนะ สัมปาเทหิ,
บทใดบทหนึ่งพึงรับว่า อุกาสะ สัมปะฏิจฉามิ ทุกบทไปแล้วสามเณร
พึงกล่าวรับเป็นธุระให้ท่านว่า อัชชะตัคเคทานิ ฯลฯ ภาโร ๓ หน ฯ ก็มี
ลำดับนั้น พระอุปัชฌายะหรือพระกรรมวาจาจารย์เอาบาตรมีสายโยคคล้องตัวผู้
มุ่งอุปสมบทแล้วบอกบาตรและจีวร ผู้มุ้งอุปสมบทพึงรับว่า อามะ ภันเต,
๔ หน ดังนี้


..........ปะฐะมัง อุปัชฌัง คาหาเปตัพโพ อุปัชฌัง คาหาเปตวา ปัตตะ
จีวะรัง อาจิกขิตัพพัง
..........คำบอกบาตรจีวร.............................. คำรับ
..........๑. อะยันเต ปัตโต ....................อามะ ภันเต
..........๒. อะยัง สังฆาฏิ ....................อามะ ภันเต
..........๓. อะยัง อุตตะราสังโค .............อามะ ภันเต
..........๔. อะยัง อันตะระวาสะโก ..........อามะ ภันเต


..........ต่อจากนั้น พระอาจารย์ท่านบอกให้ออกไปข้างนอก ว่า คัจฉะ
อะมุมหิ โอกาเส ติฏฐาหิ พึงถอยออกลุกขึ้นเดินไปยืนอยู่ในที่ที่กำหนดไว้
พระอาจารย์ท่านสวดสมมติตนเป็นผู้สอนซ้อม แล้วออกไปสวดถามอันตรา-
ยิกธรรม พึงรับว่า นัตถิ ภันเต ๕ หน อามะ ภันเต ๘ หน ดังนี้


ถาม ......................................................................ตอบ
๑. กุฏฐัง......................................................... นัตถิ ภันเต
๒. คัณโฑ ..................................................นัตถิ ภันเต
๓. กิลาโส ..................................................นัตถิ ภันเต
๔. โสโส .........................................................นัตถิ ภันเต
๕. อะปะมาโร ..................................................นัตถิ ภันเต
๑. มะนุสโสสิ๊ ..................................................อามะ ภันเต
๒. ปริโสสิ๊......................................................... อามะ ภันเต
๓. ภุชิสโสสิ๊.................................................. อามะ ภันเต
๔. อะนะโณสิ๊.................................................. อามะ ภันเต
๕. นะสิ๊ ราชะภะโฏ ........................................อามะ ภันเต
๖. อะนุญญาโตสิ๊ มาตาปิตูหิ ..............................อามะ ภันเต
๗. ปะริปุณณะวีสะติวัสโสสิ๊ ..............................อามะ ภันเต
๘. ปะริปุณณันเต ปัตตะจีวะรัง.................................. อามะ ภันเต
๑. กินนาโมสิ ..................................................อะหัง ภันเต........................
......................................................................นามะ
๒. โก นามะ เต อุปัชฌาโย ..............................อุปัชฌาโย เม ภันเต
......................................................................อายัสมา.............................
.......................................................................นามะ
..........ช่องที่..............ไว้ พระอุปัชฌายะ หรืออาจารย์ท่านจะตั้งชื่อของ
อุปสัมปทาเปกขะกรอบลงช้องให้ไว้ก่อนวันบวช


..........และช่องที่ ........ ไว้ในช่องชื่อของพระอุปัชฌายะก็เช่นเดียวกัน ให้
กรอกตามชื่อของพระอุปัชฌายะ ซึ่งท่านจะบอกและกรอกให้ไว้ก่อนวันบวช


..........ครั้นสวดสอนซ้อมแล้ว ท่านกลับเข้ามาสวดขอเรียกอุปสัมปทาเปกขะ
เข้ามา อุปสัมปทาเปกขะ พึงเข้ามาในสังฆสันนิบาต กราบลงตรงหน้า
พระอุปัชฌะ ๓ หน แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือ เปล่งวาจาขออุปสมบท
ว่าดังนี้


..........สังฆัมภันเต, อุปะสัมปะทัง ยาจามิ, อุลลุมปะตุ มัง ภันเต,
สังโฆ อะนุกัมปัง อุปาทายะ


..........ทุติยัมปิ ภันเต, สังฆัง อุปะสัมปะทัง ยาจามิ, อุลลุมปะตุ
มัง ภันเต, สังโฆ อะนุกัมปัง อุปาทายะ,


..........ตะติยัมปิ ภันเต, สังฆัง อุปะสัมปะทัง ยาจามิ, อุลลุมปะตุ
มัง ภันเต, สังโฆ อะนุกัมปัง อุปาทายะ,


..........ในลำดับนั้น พระอุปัชฌายะกล่าวเผดียงสงฆ์แล้ว พระอาจารย์สวด
สมมติตนถามอันตรายิกธรรม อุปสัมปทาเปกขะพึงรับว่า นัตถิ ภันเต
๕ หน อามะ ภันเต ๘ หน บอกชื่อตนและชื่อพระอุปัชฌายะรวม
๒ หน เหมือนที่กล่าวแล้วในหนหลัง ฯ แต่นั้นพึงนั่งฟังท่านสวดกรรมวาจา
อุปสมบทไปจนจบ ครั้นจบแล้วท่านเอาบาตรออกจากตัว แล้วพึงกราบลง
๓ หน แต่นั้นพึงนั่งพับเพียบประนมมือฟังพระอุปัชฌายะบอกอนุศาสน์
ไปจนจบ แล้วรับว่า อามะ ภันเต เป็นเสร็จพิธีอุปสมบท แล้วกราบ
พระอุปัชฌายะ ๓ หน ถ้ามีไทยทายถวายก็ให้รับไทยทานถวายพระอันดับ
เสร็จแล้วคอยฟังพระท่านอนุโมทนาต่อไป เมื่อพระอนุโมทนา พึงกรวดน้ำ
ตั้งใจอุทิศบุญกุศลส่วนนี้ให้แก่ท่านผู้มีพระคุณ เมื่อพระว่า ยะถา จบ ก็
เทน้ำโกรกลงให้หมด ต่อนั้นประนมมือฟังอนุโมทนาไปจนจบเป็นอันเสร็จพิธี.


จบพิธีอุปสมบทแบบอุกาสะ






ผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรหรือพระได้ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

๑.เป็นสุภาพชนที่มีความประพฤติดีประพฤติชอบ ไม่มีความประพฤติเสียหาย เช่นติดสุราหรือยาเสพติดให้โทษเป็นต้น และไม่เป็นคนจรจัด
๒.มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้
๓.ไม่เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติ
๔.ไม่เป็นคนล้มละลาย หรือมีหนี้สินผูกพัน
๕.เป็นผู้ปราศจากบรรพชาโทษ และมีร่างกายสมบูรณ์ อาจบำเพ็ญสมณกิจได้ ไม่เป็นคนชราไร้ความสามารถหรือทุพพลภาพ หรือพิกลพิการ
๖.มีสมณบริขารครบถ้วนและถูกต้องตามพระวินัย
๗.เป็นผู้สามารถกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ด้วยตนเอง และถูกต้องไม่วิบัติ

ต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้จะบวชได้แก่

๑.เป็นคนทำความผิด หลบหนีอาญาแผ่นดิน
๒.เป็นคนหลบหนีราชการ
๓.เป็นคนต้องหาในคดีอาญา
๔.เป็นคนเคยถูกตัดสินจำคุกฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ
๕.เป็นคนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา
๖.เป็นคนมีโรคติดต่ออันน่ารังเกียจ เช่นวัณโรคในระยะอันตราย
๗.เป็นคนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้
สิ่งต่างๆ ข้างต้นจะมีเขียนถามไว้ในใบสมัครขอบวชซึ่งต้องไปเขียนที่วัดนั้นๆ




วัตถุประสงค์ของการบวช

การบวชแต่เดิมมีความหมายอย่างที่พูดมานั้น แต่ต่อมาได้มีวิวัฒนาการทางสังคม
โดยเฉพาะในสังคมไทย ซึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมของเรา ทำให้การบวชมีความหมาย
ใหม่เพิ่มขึ้นในแง่ของวัฒนธรรมไทยด้วย เนื้อหาสาระแต่เดิมของการบวช ก็คือเรื่องของการ
ศึกษาอบรมฝึกหัดขัดเกลา ทำให้เป็นคนที่ดี มีคุณสมบัติต่าง ๆ เจริญงอกงามขึ้น
จนเป็นคนที่สมบูรณ์ คนไทยแต่อดีตได้เห็นประโยชน์ของการบวช ก็จึงคิดว่าถึงแม้จะไม่บวชอยู่ตลอดไป แม้แต่จะบวชชั่วคราวระยะหนึ่ง ก็เป็นประโยชน์ ที่จะช่วยขัดเกลาให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้นยิ่งเป็นผู้ที่จะอยู่รับผิดชอบสังคมต่อไป ถ้าเป็นคนไม่ได้ฝึกหัดขัดเกลา ไม่พัฒนาตนเองแล้ว ก็จะไม่สามารถรับผิดชอบสังคม ไม่สามารถไปสร้างสรรค์สังคมได้ แต่อาจจะไปก่อปัญหาแก่สังคมด้วยซ้ำ ถ้าเขาได้มาบวช มีการศึกษาอบรมแล้ว เป็นคนดี มีปัญญามีจิตใจงอกงาม ก็จะไปช่วยรับผิดชอบสร้างสรรค์สังคมได้ ต่อมาก็เลยเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีขึ้นมาว่า ในสังคมไทยนี้ กุลบุตรถ้ามีโอกาสก็ควรจะบวชอย่างน้อยระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจะได้ศึกษาอบรมตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เวลานี้การบวชในสังคมไทย ได้มีความหมายหลายประการด้วยกัน อาจสรุปได้เป็น ๔ อย่าง คือ

ประการที่ ๑ เป็นการทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน หมายความว่า พุทธศาสนิกชนนั้น อยากจะช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนา โดยรักษาพระธรรมวินัยให้เจริญมั่นคง เพราะว่าถ้าพระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ายังดำรงอยู่ ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนทังหลาย ช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีงาม และสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุขวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาพระพุทธศาสนา ก็คือ การบวชเข้าไปเรียนรู้พระธรรมวินัย และรักษาถ่ายทอดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าต่อกันไป เรียกว่า สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ยิ่งกว่านั้น เมื่อเรียนรู้แล้วประพฤติตาม คือดำเนินชีวิตของเราตามธรรม ก็เท่ากับเอาพระศาสนาเข้ามาไว้ในชีวิตของเรา หรือเอาตัวเราเป็นที่รักษาพระพุทธศาสนา ถ้าทำได้อย่างนี้ ตราบใดที่ชาวพุทธแต่ละคนยังมีชีวิตอยู่ พระพุทธศาสนาก็ยังอยู่ อย่างนี้แหละเรียกว่า การบวชเป็นการทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน

ประการที่ ๒ เป็นการทำหน้าที่ของคนไทย หมายความว่า พระพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ในสังคมไทย และได้กลายเป็นมรดกของชนชาติไทย คนไทยได้เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นทรัพย์สมบัติที่มีค่าสูงสุดของประเทศชาติและสังคมของเรา เพราะว่าเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว ก็ให้หลักธรรมคำสอน ทำให้คนประพฤติดีงาม เป็นหลักให้แก่สังคม ทำให้สังคมอยู่กันได้ด้วยสันติสุข มีการเบียดเบียนกันน้อยลง ถ้ามีคนดีมากกว่าคนชั่ว สังคมนี้ก็อยู่ได้ พระพุทธศาสนาได้ช่วยให้คนมากมายกลายเป็นคนดีขึ้นมา นอกจากช่วยในทางคุณธรรมความดีงาม ทางความประพฤติและทางจิตใจแล้ว ก็ยังมีประโยชน์เป็นรากฐานของวัฒนธรรมของเราด้วย แม้แต่ภาษของเราก็มาจากภาษาบาลี ตลอดจนภาษาสันสกฤตมากมาย ดนตรีและศิลปะต่าง ๆ ก็มาจากวัดวาอารามสิ่งทั้งหลายที่เป็นเครื่องหมายของความเจริญงอกงามของสังคมนี้ มาจากรากฐานทางพระพุทธศาสนามากมายเหลือเกิน ด้วยเหตุผลที่ว่ามานั้น เราจึงเห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นสมบัติประจำชาติของเรา ที่คนไทยควรช่วยกันรักษาสืบต่อไว้ การบวชนี้เป็นการช่วยรักษาพระพุทธศาสนาที่เป็นทรัพย์สมบัติของชาติ เราก็เลยตกลงว่า ให้คนไทยได้มีโอกาสมาบวช จะได้ช่วยกันรักษาทรัพย์สมบัติของชาติไทย ให้ยั่งยืนต่อไป นั้นเป็นความหมายประการที่สองของการบวช คือการทำหน้าที่ของคนไทย
ประการที่ ๓ เป็นการสนองพระคุณของบิดามารดา ดังที่เราถือกันมาเป็นประเพณีว่า ถ้าใครได้บวชลูกแล้ว ก็ได้บุญได้กุศลมากช่วยให้พ่อแม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองไปสวรรค์ ตลอดจนได้เป็นญาติของพระศาสนา การบวชก็เลยมีความหมายเป็นการตอบแทนคุณของบิดามารดา



บวชให้พ่อแม่ได้เป็นญาติของพระศาสนา

ทำไมจึงถือว่า การบวชเป็นการตอบแทนคุณของบิดามารดา และทำให้บิดามารดา
เป็นญาติของพระศาสนา เรื่องนี้เป็นคติที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ตั้งแต่สองพันกว่าปีมาแล้ว เพราะได้ทรงส่งพระสงฆ์ออกมาเผยแผ่พระศาสนา
จนถึงประเทศไทยเราด้วย

พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่งได้ตรัสถามพระเถระผู้ใหญ่ว่า ที่โยมได้อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนามามากมายนี้ ก็อยากได้เป็นญาติกับพระศาสนาและได้เป็นญาติของพระพุทธเจ้า เท่าที่โยมได้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนามามากมายนี้ โยมได้เป็นญาติของพระศาสนาหรือยัง พระเถระก็ทูลตอบไปว่า ยัง พระเจ้าอโศกมหาราชก็ตรัสถามต่อไปอีกว่า จะทำอย่างไร โยมได้บำรุงพระศาสนาไปแล้วไม่รู้เท่าไร หมดเงินทองไปมากมาย ก็ยังไม่ได้เป็นญาติของพระศาสนา ทำอย่างไรถึงจะเป็นได้ พระเถระทูลตอบว่า ถ้าใครได้มีลูกมาบวชในพระพุทธศาสนา จะเป็นลูกชายหรือลูกหญิงก็ตาม ก็ได้เป็นญาติของพระศาสนา สมัยนั้นยังมีภิกษุณีอยู่ พอดีพระเจ้าอโศกมีโอรสธิดาอยู่ ๒ องค์ที่อยากจะบวชอยู่แล้ว ก็เลยอาสาบวชให้พระราชบิดา เพื่อจะได้เป็นญาติกับพระศาสนา คือ เจ้าชายมหินท์กับเจ้าหญิงสังฆมิตตาทั้งสององค์ ก็เลยผนวชเป็นพระภิกษุ และพระภิกษุณี แล้วก็ทำหน้าที่สืบต่อพระพุทธศาสนา

พระมหินทเถระได้มาประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป ส่วนพระสังฆมิตตาเถรี ก็ได้นำเอาพระภิกษุณีสงฆ์มาตั้งในศรีลังกา และนำเอากิ่งพระศรีมหาโพธิ์มาปลูกที่นั่นด้วย ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญสืบต่อมา ก็เลยถือคติกันว่า ใครบวชลูก ก็ได้เป็นญาติกับพระศาสนา นี้เป็นความหมายแบบประเพณี การบวชทดแทนคุณพ่อแม่นี้ ถ้ามองความหมายให้ลึกซึ้งลงไป ก็เป็นเรื่องความเป็นจริงของชีวิตจิตใจ กล่าวคือ ตามธรรมดาพ่อแม่ย่อมรักลูก สุดยอดความรักก็คือรักลูก เมื่อรักลูกก็อยากให้ลูกได้ดีมีความสุข ถ้าลูกได้ดีมีความสุข พ่อแม่ก็มีความสุขด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าลูกไม่ดี ไม่มีความสุข พ่อแม่ก็มีความทุกข์มาก และถ้าทุกข์เพราะลูก ก็จะทุกข์ที่สุด เป็นทุกข์อย่างใหญ่หลวง
เพราะฉะนั้น เมื่อพ่อแม่หวังดี จึงคิดว่าทำอย่างไรจะให้ลูกมีความสุข การที่ลูกจะได้ดี มีความสุขก็คือลูกจะต้องมีการศึกษา ได้รับการฝึกอบรมอย่างดี ไม่ใช่เป็นอยู่ดีและประพฤติตัวดีเฉพาะปัจจุบันเท่านั้น แต่หมายถึงอนาคตภายหน้าด้วย เพราะในกาลข้างหน้าพ่อแม่จะไม่ได้อยู่กับลูกตลอดไป แล้วลูกจะเป็นอย่างไร พ่อแม่ก็เป็นกังวลในเรื่องอนาคตของลูกว่า ต่อไปข้างหน้า ลูกจะเป็นคนดี มีความสุข มีความสำเร็จ จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกได้ดีหรือไม่ จะรักษาวงศ์ตระกูลได้หรือไม่ สารพัดจะคิดไป นี่เป็นข้อกังวลของพ่อแม่ทั้งหลาย รวมความว่า ความอยากให้ลูกเป็นคนดี มีความสุขนี่ อยู่ในจิตใจของพ่อแม่ตลอดเวลา

ทีนี้พระศาสนามาช่วยให้การศึกษาอบรม อย่างน้อยในเวลาที่สำคัญที่สุดคือในวัยกำลังหนุ่มคะนอง ในสมัยโบราณนั้นก็เป็นธรรมดาคนหนุ่ม ๆ ย่อมชอบไปโน่นไปนี่ และคบเพื่อนมากมาย แต่ละวัน ๆ ที่พ่อแม่ย่อมเป็นห่วงลูก โดยเฉพาะลูกผู้ชายวัยคะนองเมื่อไปโน่นไปนี่ พ่อแม่ก็ห่วงเป็นกังวล มักตั้งตาคอย ไม่ค่อยสบายใจ คิดว่าลูกจะไปมีเรื่องกับใครที่ไหนหรือเปล่า จะทำดีทำถูกต้องหรือเปล่า อะไรต่ออะไร จนกว่าลูกกลับมาบ้านทีจึงโล่งใจ พ่อแม่จึงคิดนักว่า ทำอย่างไรจะให้มีหลักประกันว่าลูกจะเป็นคนดี รับผิดชอบชีวิตตนเองได้ รับผิดชอบครอบครัวได้ และรับผิดชอบสังคมได้ เมื่อมีการบวช พอลูกบวชแล้ว เป็นพระอยู่ในวัด ครองผ้าเหลืองมีวินัย มีศีล เป็นกรอบ พอได้บวชเท่านั้น พ่อแม่ก็สบายใจ ว่าคราวนี้ไม่ต้องเป็นห่วงแล้ว ลูกอยู่ที่วัด ไม่ได้ประพฤติเสียหายไม่ไปเที่ยววุ่นวายที่ไหน จิตใจพ่อแม่ก็สงบ หายวุ่นวาย คลายกังวล
เพราะฉะนั้นการบวชจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้จิตใจของพ่อแม่มีความสุข แต่ไม่ใช่แค่นั้น พ่อแม่ยังมีความปลาบปลื้มใจ ด้วยความหวังว่าเมื่อลูกได้เข้าไปอยู่ในวัด ได้ศึกษาอบรมในพระธรรมวินัยแล้ว ต่อไปก็จะเป็นคนดี จะรับผิดชอบชีวิตของตนเองได้ จะรับผิดชอบครอบครัวและสังคมได้ แล้วเกิดความมั่นใจ พ่อแม่ก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนั้น ขณะที่ลูกไปเป็นพระอยู่ที่วัดนั้น ยังมีผลตามมาอีก คือตามปกติพ่อแม่วุ่นวายกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ บางทีก็ไม่มีเวลาเข้าวัด ไม่มีเวลาแม้แต่จะนึกถึงพระ หรือนึกถึงวัด แต่พอลูกบวชแล้ว นึกถึงลูกเมื่อไร ก็เท่ากับนึกถึงพระด้วย เมื่อนึกถึงพระ ก็นึกถึงวัด นึกถึงพระศาสนา จึงเท่ากับว่าลูกได้ช่วยโน้มน้าวจิตใจของพ่อแม่เข้ามาสู่พระศาสนา และมาสู่คำสอนของพระพุทธเจ้า คือเข้ามาสู่ธรรมะ เพราะฉะนั้น เมื่อลูกเข้ามาบวช จึงเท่ากับจูงพ่อแม่เข้ามาสู่พระศาสนาด้วย เริ่มตั้งแต่ทำให้จิตใจของพ่อแม่เข้ามาใกล้ชิดพระศาสนามากขึ้น ตลอดจนมีโอกาสไปวัดมากขึ้น เพราะจะไปหาพระลูกของตัวเองก็ต้องไปที่วัด เมื่อไปวัดก็ได้ไปพบพระ บางทีก็ได้มีโอกาสฟังธรรมะ และได้เรียนรู้ธรรมะไปด้วย นี้แหละจึงเป็นทางที่ ช่วยให้พ่อแม่ได้ใกล้ชิดพระศาสนา เรียกว่า เป็นญาติของพระศาสนาอย่างแท้จริง



ถ้าทำได้อย่างนี้พ่อแม่จะหายห่วงหายกังวล มีความสุขอย่างบริบูรณ์ทีเดียว สรุปว่า ลูกตอบแทนพระคุณพ่อแม่ได้ ๓ ระดับ คือ ๑. เลี้ยงดูช่วยเหลือท่านทางด้านร่างกาย ๒. บำรุงรักษาใจของท่านให้เอิบอิ่มเป็นสุข ๓. ชักจูงให้ท่านเจริญสูงขึ้นไปในธรรม มีความดีงามและปัญญามากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการตอบแทนคุณบิดามารดาด้วยการบวชของตนเอง ประการที่ ๔ เป็นการศึกษาฝึกอบรมพัฒนาตนเอง พอถึงข้อสุดท้าย จุดหมายของการบวชก็มาอยู่ที่ตัวเอง คือเป็นการพัฒนาชีวิต ทั้งในด้านความประพฤติ คือพฤติกรรมทางกาย วาจา ทั้งในด้านจิตใจที่จะมีความดีงามเข้มแข็งมั่นคงเป็นสุข และในด้านปัญญาคือความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตรงตามเป็นจริง ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้บรรลุจุดหมายข้อที่ ๔ นี้ คือการศึกษาอบรมตนเองแล้ว จุดหมาย ๓ ข้อต้นก็สำเร็จด้วย เพราะว่าในที่สุดแล้ว จุดหมายทั้ง ๔ ประการก็มารวมที่จุดเดียวกัน คือที่สิกขาคือการศึกษาของตนเอง เมื่อตนเองประพฤติปฏิบัติดี ตั้งใจเรียนรู้ฝึกหัดอบรม ในพระธรรมวินัย เจริญในศีล สมาธิ ปัญญา ผลแก่พ่อแม่ก็ได้ด้วย ผลแก่สังคมไทยก็ได้ด้วย ผลแก่พระพุทธศาสนาก็ได้ด้วย พร้อมกันหมด เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่ตนเองจะต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เมื่อบวชแล้วก็พยายามให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการบวชในครั้งนี้ ด้วยความไม่ประมาท ตั้งใจที่จะเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา ทำกิจวัตรให้สมบูรณ์ ด้วยกำลังใจที่ตั้งไว้อย่างดีนี้ จะเป็นฐานที่ทำให้การบวชของตนมีผลอย่างที่ท่านเรียกว่าเป็นกำไรอย่างแท้จริง ....



บวชทดแทนพระคุณบิดา มารดา


ลูกที่มีความรู้ความเข้าใจดี เมื่อมาบวชแล้ว ตัวเองได้เห็นคุณค่าของพระศาสนา
เมื่อมองเห็นคุณค่าของธรรมะแล้วก็นำธรรมะนั้นไปเผยแผ่ให้แก่พ่อแม่ญาติ
พี่น้องของตน ทำให้ความดีงามแผ่ขยายออกไป ช่วยให้จิตใจของพ่อแม่และญาติ
มิตรร่มเย็นเป็นสุขด้วย และถ้าตนเองสามารถนำเอาธรรมะที่ได้ศึกษาปฏิบัติไปใช้
ประโยชน์ทำตัวเองให้ดีด้วย และไปช่วยแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ดีงามมีความสุข ก็
จะช่วยให้พ่อแม่ยิ่งมีความสุขความเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปอีก

การตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่นั้น เบื้องต้นที่สุดก็ถือกันว่าหมายถึงการเลี้ยงดูบำรุงท่านในด้านร่างกาย เช่นด้วยอาหาร และปัจจัยสี่อื่น ๆ แต่สาระสำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ท่านมีความสุข โดยเฉพาะทำให้ท่านมีความสุขใจ เมื่อทำให้พ่อแม่มีความสุขใจได้แล้ว ก็เป็นการตอบแทนคุณพ่อแม่อย่างดีที่สุด เพราะถ้าลูกทำให้พ่อแม่เดือดร้อนใจมีความทุกข์ เช่นมีความกลุ้มกังวล เร่าร้อนใจ ทุกข์ใจ หรือหนักใจเพราะลูก ก็แสดงว่าเราได้เบียดเบียนท่าน แต่ถ้าเราทำให้ท่านมีความสุขมีความมั่นใจได้ ทำให้ท่านอิ่มใจมีปิติสุขได้ ก็เป็นการตอบแทนคุณของท่านอย่างลึกซึ้งทีเดียว

ยังมีการตอบแทนพระคุณที่ยิ่งกว่านั้นอีก คือว่า ถ้าท่านยังไม่รู้จักธรรมะ เช่น ถ้าท่านเป็นคนไม่มีศรัทธา เราก็ชักจูงให้ท่านมีศรัทธา ถ้าท่านเป็นคนประพฤติไม่ดี ก็ชักจูงให้ท่านตั้งอยู่ในศีล ถ้าพ่อแม่ไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไร เราก็ชักจูงให้ท่านมีความรู้ความเข้าใจในธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าและความรู้ที่ดีงาม อื่น ๆ การตอบแทนด้วยวัตถุสิ่งของ เป็นของภายนอก ไม่ใช่เนื้อหาสาระแท้จริง ไม่เข้าไปถึงเนื้อแท้ของจิตใจ และไม่ทำให้ชีวิตดีงาม ประเสริฐ แต่ถ้าเราถึงเนื้อแท้ของจิตใจ และไม่ทำให้ชีวิตดีงาม ประเสริฐ แต่ถ้าเราชักจูงให้พ่อแม่เข้าสู่ธรรมะได้ ให้ท่านเป็นคนดีงาม มีปัญญาได้ นั่นก็คือทำให้ท่านได้สิ่งที่มีค่าเป็นสาระของชีวิต จึงถือว่าเป็นการตอบแทนพระคุณอย่างสูงสุด

อย่างน้อยเมื่อมาบวช เราตั้งใจประพฤติให้ดีที่สุด ให้คุณพ่อคุณแม่ระลึกถึงเราแล้วก็เกิดความอิ่มใจมีความสุข พอนึกถึงลูกบวชเป็นพระอยู่ที่วัด รู้ว่าลูกตั้งใจศึกษาธรรมวินัย อยู่ในศีลประพฤติดีงาม พอระลึกถึงลูก ระลึกถึงพระศาสนา จิตใจก็เอิบอิ่ม มีความสุข พอเห็นลูกห่มผ้าเหลืองสำรวมเรียบร้อย มาบิณฑบาต จิตใจพ่อแม่ก็ได้ปีติ มีความอิ่มใจอีกเห็นลูกเมื่อไร่ ระลึกถึงลูกเมื่อไร ก็มีความสุขเมื่อนั้น นี้แหละถือว่าตอบแทนคุณของพ่อแม่อย่างดีที่สุด กว่าลูกจะสึก ก็ช่วยให้โยมพ่อแม่มีความสุขมากมายไม่รู้เท่าไร อย่างน้อยในระยะเวลาที่บวช ๓ เดือนนี้ เรามาตั้งใจว่าจะช่วยรักษาจิตใจของโยมพ่อโยมแม่ให้มีความสุขตลอดเวลา ตั้งใจว่าให้ท่านได้ความสุขจากเราตลอดสามเดือนนี้ เพียงแค่นี้ก็คุ้มค่า เมื่อทำให้พ่อแม่มีจิตใจที่เป็นสุข ก็ทำให้ท่านเจริญงอกงามขึ้นในทางบุญกุศล และทำให้ท่านมั่นใจต่อลูกว่า ลูกจะประพฤติปฏิบัติดี มีการศึกษาอบรมแล้วจะมีชีวิตที่ดีงามต่อไปในอนาคต




อานิสงส์ของการบวช คืออะไร ?

เมื่อกล่าวถึงผลหรืออานิสงส์ของการบวชแล้วผู้บวชควรจะทำในใจถึงผลของการบวชให้กว้างออกไปเป็น3 ประการ เป็นอย่างน้อย อานิสงส์ของการบวชนั้นย่อมมีมากมายกว้างขวางเหลือที่จะกล่าวให้ครบถ้วนเป็นรายละเอียดได้แต่เราอาจจะประมวลเข้าด้วยกัน แล้วจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท กล่าวคือ

อานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ ตัวผู้บวชเอง
อานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ ผู้อื่น มีมารดา บิดาที่เป็นประธาน
อานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ พระศาสนา


รวมเป็น 3 ประการด้วยกัน ดังนี้

สำหรับ อานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ตัวผู้บวชเองนั้น โดยส่วนใหญ่ ย่อมหมายถึงการพ้นไปจากการเผาผลาญของไฟกิเลสและไฟทุกข์ หรือที่เรียกว่า “ นิพพาน “ นี้เป็นที่ตั้ง หากไม่ได้ถึงนั้น ก็ย่อมได้รองลงมาในอันดับที่รองลงมา คือ มีไฟกิเลส และไฟทุกข์เผาผลาญแต่เพียงเบาบาง แล้วแต่ว่าตนจะสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยได้ดีเพียงไร นี้กล่าวสำหรับผู้บวชตลอดไป

ส่วนผู้ที่บวชเฉพาะกาลชั่วคราว ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของบางประเทศนั้น ย่อมได้ผลโดยสรุปคือ จักได้เรียนรู้ศาสนาที่ตนนับถือได้อย่างใกล้ชิด จักได้ลองชิมการปฏิบัติธรรมะเป็นเครื่องพ้นทุกข์ดู เท่าที่ตนจะปฏิบัติได้ และในที่สุดจักได้กลับออกมาเป็นคนที่ดีกว่าเก่า เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำในครอบครัว

ทั้งหมดนี้เรียกว่า อานิสงส์ที่ผู้นั้นจะพึงได้รับ เฉพาะตนและตนจะต้องทำให้ได้รับจริง ๆ อย่าให้เสียทีที่ได้บวชเลย

สำหรับอานิสงส์ที่ได้พึงได้แก่ผู้อื่น มีมารดาบิดาเป็นต้นนั้น ข้อนี้ย่อมหมายถึงการมุ่งตอบแทนบุญคุณของผู้มีบุญคุณ เป็นที่ตั้ง มีมารดาบิดาเป็นประธานของบุคคลเหล่านั้น ๆ คนเราพอสักว่าเกิดมาในขณะนั้น ยังไม่ทันจะลืมตาดูโลกได้ก็เป็นหนี้บุญคุณแก่คนทั้งหลาย อย่างมากมายเหลือที่จะกล่าวได้เสียแล้ว สำหรับมารดาบิดานั้นไม่ต้องกล่าวเพราะว่าท่านมีบุญคุณเหนือเศียรเกล้าของบุตรเพียงไรนั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์กันดีแล้ว

ส่วนที่ว่า “ เป็นหนี้บุญคุณผู้อื่นอีกมากมายเสียตั้งแต่ยังไม่ทันลืมตาดูโลก “ นั้น ข้อนี้หมายความว่า พอเด็กคลอดออกมาก็ต้องอาศัยสติปัญญาวิชาความรู้ของผู้ที่เป็นแพทย์ เป็นหมอ ของผู้ที่รู้จักคิดรู้จักทำเครื่องนุ่งห่มขึ้นในโลก และของผู้ที่ทำการช่วยเหลือแวดล้อมทุกอย่างทุกประการโดยไม่รู้สึกตัว จนอาจจะสรุปได้ว่า พอเกิดมาก็เป็นหนี้บุญคุณคนทั้งโลกทีเดียว

เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนดี ที่จะต้องตอบแทนบุญคุณของผู้มีบุญคุณทั้งหลาย ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นประธาน

ในการตอบแทนบุญคุณนั้น บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ได้กล่าวไว้ว่า ไม่มีอะไรที่จะตอบแทนดียิ่งไปกว่าการทำให้ผู้มีบุญคุณนั้น ๆ ได้รับความดี ความงามอันสูงสุด สำหรับความดีความงามอันสูงสุดนั้น ก็ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า การได้พ้นไปจากความทุกข์ หรือพ้นไปจากการถูกเผาผลาญของไฟกิเลสและไฟทุกข์

เพราะเหตุฉะนี้แหละ บุตรที่จะต้องตอบแทนมารดาบิดาจักต้องสำนึกถึงการทำให้มารดาบิดาเป็นต้นนั้น ได้รับความดีความงามเป็นความพ้นทุกข์ก่อนสิ่งอื่นใดทั้งสิ้นท่านผู้รู้ได้กล่าวเปรียบความข้อนี้ไว้ว่าแม้หากจะทำได้ถึงกับว่าให้มารดาบิดาทั้งสองอยู่บนบ่าของบุตร แล้วฟูมฟักรักษามารดาบิดานั้น ไม่ให้อนาทรร้อนใจด้วยการกินอยู่เป็นต้น บนบ่าโดยไม่ต้องลงสู่พื้นดินเลย เป็นเวลาตลอดกัปป์ตลอดกัลป์ ก็ยังหาจัดว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณมารดาบิดา ได้เพียงพอหรือเหมาะสมกันไม่ แต่ท่านได้กล่าวไว้สืบไปว่า ถ้าหากบุตรคนใดได้ทำมารดาบิดา ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือว่าทำมารดาบิดาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิยิ่งขึ้น จนถึงกับออกจากทุกข์ได้หมดจนสิ้นเชิง นี้แหละ ก็คือการตอบแทนบุญคุณของมารดาบิดาได้อย่างสมกัน

เราจึงเห็นได้ชัดว่า โอกาสแห่งการตอบแทนบุญคุณของมารดาบิดานั้น นับว่ามีมากที่สุดในการบวช คือว่าด้วยการบวชนั้น จักทำให้มารดาบิดาเป็นต้นนั้น มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น ได้เป็นผู้ใกล้ชิด หรือเป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้น ได้ใกล้ชิดการประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยยิ่งขึ้นได้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมอันลึกซึ้งยิ่งขึ้นหรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นผู้มั่นคงไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย จนเป็นที่รับประกันได้ว่า ไม่มีทางที่จะตกไปสู่อบายได้เลย ดังนี้เป็นต้น

จึงนับว่า การบวชที่ถูกต้องนี้เป็นโอกาสที่จะตอบแทนบุญคุณมารดาบิดาได้จริง ๆ แต่ทั้งนี้ ย่อมหมายถึงว่า ผู้นั้นจะต้องบวชจริง ศึกษาเล่าเรียนจริง ประพฤติปฏิบัติจริง ๆ ได้รับผลแห่งพรหมจรรย์นี้จริง ๆ แล้วตั้งหน้าตั้งตาสอนผู้อื่นจริง ๆ ล้วนแต่เป็นการทำจริงไปทั้งหมดดังนี้ จึงจะมีผลเป็นการตอบแทนบุญคุณมารดาบิดาเป็นต้น อันเป็นที่รักที่เคารพจริงอย่างเหมาะสมกันได้

ขอให้ผู้บวชแล้วทั้งหลาย จงอ้างเอาคุณมารดาบิดาเป็นที่ตั้ง โดยมีความสำนึกว่า ท่านเหล่านั้นได้มีบุญคุณแก่เรามาก่อนแล้ว เป็นฝ่ายที่ทำแก่เราก่อน เรากำลังเป็นหนี้บุญคุณของท่านอยู่แล้ว แล้วตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมวินัย ด้วยการทำจริง ดังกล่าวมา ให้เป็นการตอบแทนบุญคุณมารดาบิดาอย่างเหมาะสมกัน อย่าให้เป็นขบถหรือหลอกลวงต่อความหวังของมารดาบิดาแต่ประการใดเลย อันนี้แลเรียกว่า อานิสงส์ของการบวชที่จะพึงได้แก่ผู้มีบุญคุณทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้น

สำหรับอานิสงส์อันจะพึงได้แก่พระศาสนาเอง เป็นประการสุดท้ายนั้น ข้อนี้หมายความว่า แม้พระศาสนาก็เป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง อาจจะเสื่อมสูญไปได้ ถ้าหากไม่มีการปรุงแต่งสืบต่ออายุเอาไว้

เพราะฉะนั้น การบวชของพวกเรา จึงมีความมุ่งหมายให้เป็นการสืบอายุพระศาสนาไปด้วยอีกส่วนหนึ่ง เราที่ได้บวชนี้ก็เพราะมีพระพุทธศาสนา ถ้าหากไม่มีพระศาสนา เราจะบวชได้อย่างไร เป็นสิ่งที่เข้าใจกันได้อยู่ดีแล้ว บุญคุณของพระศาสนานั้นเองที่ทำให้เราได้บวช เพราะฉะนั้นเราจักตอบแทนคุณของพระศาสนา

ถ้ากล่าวให้ยืดออกไปกว่านี้อีก คือ เราต้องรำลึกถึงคุณอุปัชฌาย์อาจารย์ ที่ได้สืบอายุพระศาสนากันมาเป็นลำดับ ๆ นับตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจนถึงบัดนี้ จนทำให้เราได้บวช เราต้องสำนึกถึงบุญคุณของอุปัชฌาย์อาจารย์เหล่านั้น ซึ่งแต่ละท่านล้วนแต่หวังว่า เราผู้เป็นลูกศิษย์ชั้นหลัง ๆ จักช่วยกันสืบอายุพระศาสนาให้เป็นช่วง ๆ รับมอบกันไปอย่าให้ขาดสายได้ นี้เป็นเหตุให้เราต้องคิดตอบแทนคุณอุปัชฌาย์อาจารย์เหล่านั้น ด้วยการสืบอายุพระศาสนาไว้ให้ได้จริง ๆ ถ้าจะกล่าวให้ยืดออกไปกว่านั้นอีก เราจะต้องรำลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นต้นกำเนิดของพระศาสนา ในข้อที่พระองค์ได้ทรงเสียสละ ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากในการประดิษฐานพระศาสนาซึ่งเมื่อเราได้ศึกษาประวัติอันประเสริฐของพระองค์แล้วเราจะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงบากบั่นในการประดิษฐานและเผยแพร่พระศาสนานี้ จนถ้าจะกล่าวโดยโวหารธรรมดาก็กล่าวได้ว่า “ ตายคาที่บนแผ่นดินกลางทางเดิน ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง “ ไม่ได้ตายบนกุฏิเหมือนเราท่านทั้งหลายโดยมาก

สรุปข้อความนี้ว่า พระองค์ทรงมีความพยายามและความหวังอย่างยิ่ง ที่จะประดิษฐานพระศาสนาของพระองค์ให้มั่นคงอยู่ในโลกนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายรวมทั้งพวกเราด้วย เพราะเหตุฉะนั้นแหละเราจะต้องบากบั่นในการสืบอายุพระศาสนา ให้สมกับตัวอย่างที่พระองค์ได้ทรงกระทำไว้และให้สมกับบุญคุณอันใหญ่หลวงที่พระองค์ทรงกระทำไว้แก่สัตว์ทั้งหลายรวมทั้งพวกเราด้วย เพื่อจะให้เป็นการสืบอายุพระศาสนาได้สมจริงนั้น ย่อมมีอยู่แต่ทางเดียวเท่านั้น คือ

เราจะต้องบวชจริง ศึกษาเล่าเรียนจริง ประพฤติปฏิบัติจริงให้ได้รับผลของพรหมจรรย์นี้จริง แล้วพยายามสั่งสอนผู้อื่นต่อกันไปจริง จึงจะเป็นการสืบอายุพระศาสนาเป็นเครื่องบูชาตอบแทนพระคุณของพระองค์ได้จริง

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายควรจะรำลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงพระคุณของอุปัชฌาย์อาจารย์ ที่ได้สืบอายุพระศาสนา สืบต่อกันลงมาจนถึงพวกเรา และรำลึกถึงคุณของพระศาสนา ซึ่งเป็นเครื่องบำบัดความทุกข์ของสัตว์ได้จริง แล้วตั้งหน้าตั้งตาตอบแทนคุณพระศาสนา คุณอุปัชฌาย์อาจารย์และคุณพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยการเรียนจริงปฏิบัติจริงเป็นต้น ดังกล่าวแล้ว

นี้เรียกว่า อานิสงส์ของการบวชอันจะพึงได้แก่ ตัวศาสนาเอง ซึ่งในที่สุดอานิสงส์อันนั้นก็จะแผ่ไปในทุก ๆ โลก ทั้งมนุษยโลกและเทวโลกเป็นเหมือนร่มโพธิ์ร่มไทรที่คุ้มครองสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายให้เยือกเย็นอยู่ภายใต้ร่มเงาของพระศาสนาตลอดกาลนาน

รวมอานิสงส์ ทั้ง 3 ประการเข้าด้วยกัน คือ

อานิสงส์ที่พึงจะได้แก่ ตัวผู้บวชเอง

อานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ ผู้มีบุญคุณทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นประธาน

และอานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ ตัวพระศาสนา

ดังนี้แล้ว ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการเพียงพอแล้ว ที่เราจะต้องเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยการอดกลั้นอดทนเพื่อให้เกิดการบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้รับผลจริง แล้วสั่งสอนสืบต่อกันไปจริง ซึ่งอาจจะกล่าวได้ด้วยความมั่นใจว่า ไม่มีการกระทำอย่างใดที่จะดียิ่งกว่าการกระทำอันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอานิสงส์ของการบวชที่พวกเราจะพึงได้รับ

http://www.songpak16.com/Budhatas/bdd-40-01.htm

http://www.watkoh.com/data/befor_bpc/03.php

http://www.dhammajak.net/suadmon1/28.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น