เรื่องสญชัย
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน ทรงปรารภการไม่มาเข้าเฝ้าของสญชัยซึ่งพระอัครสาวกทั้งสองชักชวนแล้ว ได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 11 และพระคาถาที่ 12 นี้
อุป ติสสะและโกลิตะเป็นชายหนุ่มจากหมู่บ้านอุปติสสะและหมู่บ้านโกลิตะซึ่งอยู่ ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์ ทั้งสองคนไปชมมหรสพอยู่บนยอดภูเขาแล้วเกิดความตระหนักถึงความไม่เที่ยงของ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงได้ตัดสินใจแสวงหาความหลุดพ้น ในเบื้องแรกทั้งสองคนได้เข้าไปเป็นศิษย์ของอาจารย์สญชัยซึ่งเป็นปริพาชกใน กรุงราชคฤห์ แต่ไม่สมใจในคำสอนของสญชัย จึงได้ออกเดินทางตระเวนไปทั่วชมพูทวีป(อินเดีย)แล้วกลับมาที่กรุงราชคฤห์ดัง เดิม หลังจากตระเวนหาแล้วไม่พบธรรมะอย่างแท้จริง ทั้งสองจึงได้ทำความตกลงกันว่าหากคนใดคนหนึ่งได้ไปพบธรรมะที่แท้จริงก็จะ ต้องบอกแก่กันและกัน
อยู่มาวันหนึ่งอุปติสสะไปพบพระอัสสชิ เถระและได้เรียนรู้จากท่านถึงแก่นแท้ของธรรมะ ซึ่งพระอัสสะได้กล่าวเป็นพระคาถาว่า “เย ธมฺมา เหตุปพฺภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต อาห เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ” ซึ่งแปลความได้ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น และความดับไปแห่งเหตุทั้งหลายเหล่านั้ พระมหาสมณะมีปกติกล่าวอย่างนี้” เมื่อได้ฟังพระคาถานี้แล้วอุปติสสะก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล จากนั้นก็ได้ทำคำที่ให้สัญญากันไว้กับโกลิตะ คือได้ไปบอกกับสหายผู้นี้ว่าตนได้บรรลุถึงความไม่ตายแล้วได้นำพระคาถานั้นมา ว่าให้โกลิตะฟัง โกลิตะได้ฟังแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันอีกเช่นกัน ทั้งสองคนรำลึกถึงอาจารย์สญชัยจึงชวนกันไปพบและเรียนท่านว่า “พวกเราได้พบบุคคลที่จะชี้แนะหนทางแห่งความไม่ตายแล้ว บัดนี้พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาแล้วในโลก พระธรรมก็เกิดขึ้นมาแล้ว พระสงฆ์ก็เกิดขึ้นมาแล้ว..มาเถิดจงไปพบกับอาจารย์ท่านนั้นกัน” คนทั้งสองวาดหวังไว้ว่าอดีตอาจารย์ของตนผู้นี้จะตามไปพบกับพระพุทธเจ้าและ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วก็จะได้บรรลุมรรคผล แต่ท่านสญชัยปฏิเสธไม่ยอมตามไปด้วย
ดังนั้นอุปติสสะและโกลิตะพร้อมด้วยบริวารจำนวน ๒๕๐ คน จึงได้ไปเฝ้าพระพุทธจ้าที่วัดเวฬุวัน และทั้งสองคนก็ได้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา อุปติสสะในฐานะเป็นบุตรของนางรูปสารีจึงมีชื่อว่า พระสารีบุตรเถระ ส่วนโกลิตะเป็นบุตรของนางโมคคัลลีจึงมีชื่อว่า มหาโมคคัลลานะ ในวันที่ 7 หลังจากบวชพระโมคคัลลานะก็ได้บรรลุอรหัตตผล ส่วนพระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหัตตผลหลังจากอุปสมบทได้ 15 วัน ในวันนั้นเองพระพุทธเจ้าได้สถาปนาท่านทั้งสองไว้ในตำแหน่งอัครสาวกขวาซ้าย คือ พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย
จากนั้นพระอัครสาวกทั้ง สองได้กราบทูลพระศาสดาเรื่องที่ท่านขึ้นไปชมมหรสพบนภูเขา ไปพบกับพระอัสสชิ และได้บรรลุพระโสดาปัตติผล หลังจากนั้นก็ได้ไปชวนอดีตอาจารย์สญชัยโดยกะว่าจะให้เดินทางมาพร้อมกับพวกตน แต่สญชัยได้กล่าวว่า “เราเป็นอาจารย์มีลูฏศิษยลูกหามากมาย จะให้เรามาเป็นศิษย์คนอื่นนั้นก็จะเหมือนกับการเปลี่ยนตุ่มน้ำให้เป็นถ้วย น้ำชา” นอกจากนั้นแล้วท่านก็ยังบอกด้วยว่า คนที่ฉลาดมีน้อย ส่วนพวกคนโง่มีมาก ก็ให้พวกคนฉลาดไปหาพระสมณโคดมผู้ฉลาด ส่วนพวกคนโง่ก็จะมาหาเราผู้เป็นคนโง่ พวกท่านทั้งสองจงไปตามทางของพวกท่านเถิด”
ดังนั้น พระศาสดาทรงชี้ว่า เพราะทิฐินั้นเองทำให้ท่านสญชัยต้องพลาดจากการได้เห็นธรรมว่าเป็นธรรม เมื่อสญชัยยังเห็นอธรรมว่าเป็นธรรมก็จะยังไม่สามารถบรรลุถึงธรรมที่แท้จริง ได้ จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 11 และพระคาถาที่ 12 ว่าดังนี้
อสาเร สารมติโน
สาเร จ อสารทสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจฺฉติ
มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจราฯ
ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ
เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไร้สาระ
เขามีความคิดผิดเสียแล้ว
ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ
สารญฺจ สารโต ญตฺวา
อสารญฺจ อสารโต
เต สารํ อธิคจฺฉติ
สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา
ผู้เข้าใจสิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระ
เห็นสิ่งที่ไร้สาระว่าไร้สาระ
มีความคิดเห็นชอบ
ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง คนเป็นจำนวนมากได้บรรลุพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระธรรมเทศนามีประโชน์แก่พุทธบริษัทที่มาประชุมกัน.
ข้อมูลโดย วิโรจน์ ไผ่ย้อย สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบูรณ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น